กทท.จับมือท่าเรือกฤษณาปัทนัม ของอินเดีย ร่วมทำการตลาด ดึงตู้สินค้าผ่านท่าเรือระนอง ตั้งเป้าปี 63 สินค้าเพิ่ม 1 หมื่นทีอียู เกตเวย์การค้า กลุ่ม BIMSTEC มูลค่าปีละกว่า 4 แสนล้าน พร้อมชงบอร์ดของบ 55 ล้านออกแบบขยายท่าเรือระนอง ตอกเข็มปี 64 เฟสแรกเสร็จปี 65 รองรับเป็น 3 แสนทีอียู
เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.โดย ท่าเรือระนองได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ท่าเรือกฤษณาปัทนัม ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ที่มีศักยภาพสูง โดยมีปริมาณตู้กว่า 5 แสนทีอียูต่อปี เป็นความร่วมมือในลักษณะ Port–to–Port Cooperation เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการบริหารจัดการท่าเรือและส่งเสริมงานด้านการตลาดการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท่าเรือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และร่วมมือด้านการตลาด
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ซึ่งปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม BIMSTEC มีมูลค่า 4 แสนล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า และหากแยกเฉพาะประเทศอินเดียมีมูลค่าการค้าถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งทางอินเดียต้องการใช้ท่าเรือระนองเชื่อมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะจะย่นเวลาลงครึ่งหนึ่ง หรือไม่เกิน 7 วัน จาก 10-15 วัน
ท่าเรือระนองมีขีดรองรับที่ 7.8 หมื่นทีอียูต่อปี โดยปี 2562 (ต.ค. 61-ก.ค. 62) มีปริมาณตู้สินค้าประมาณ 4,000 ทีอียู สร้างรายได้มากกว่า 30 ล้านบาท กทท.จะเร่งทำการตลาด พร้อมๆ กับการพัฒนาขยายศักยภาพท่าเรือระนอง ซึ่งจะเพิ่มขีดรองรับตู้สินค้าเป็น 3 แสนทีอียูต่อปี ภายในปี 2565 พร้อมกันนี้ ได้หารือกับสายเรือจากอินโดนีเซียและจีนเข้ามาใช้บริการอีกด้วย
***ชงบอร์ด กทท.ของบ 55 ล้าน ออกแบบ-ศึกษา EIA พัฒนาท่าเรือระนอง
เรือโท ชำนาญ ไชยฤทธิ์ รอง ผอ.กทท. สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมเสนอบอร์ด กทท.ขออนุมัติงบประมาณปี 2563 จำนวน 55 ล้านบาท ในการออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การพัฒนาท่าเรือระนอง คาดว่าจะประมูลและก่อสร้างในปี 2564 โดยระยะแรกจะขยายพื้นที่ท่าเทียบเรือที่ 1 จากความยาว 130 เมตรเป็น 180 เมตร ท่าเทียบเรือที่ 2 จาก 150 เมตรเป็น 180 เมตร และปรับปรุงพื้นที่หลังท่าประมาณ 100 กว่าไร่ ประมาณ 3 แสนตารางเมตร และรองรับเป็น 3 แสนทีอียูต่อปี และในระยะต่อไปจะก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 ความยาว 180 เมตร จะทำให้ขีดความสามารถรองรับรวมเป็น 6 แสนทีอียูต่อปี
“จะทำการตลาดของท่าเรือระนองกับท่าเรือกฤษณาปัทนัม ของอินเดีย ซึ่งคาดว่าปี 63 ปริมาณตู้สินค้าจะมีมากกว่า 1 หมื่นทีอียู”