"สุริยะ" เปิดทางผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้แต่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 มีมาตรการดูแลผลกระทบทุกมิติชัดเจน ส่วนกรณีคิงส์เกตฯ ขอเจรจาหวังเคลียร์ข้อพิพาทจะใช้เวลาอีก 2-3 เดือน หวังไม่ยื่นอนุญาโตฯ ด้าน กพร.เผยมีเอกชนยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำแล้ว 10 ราย รอการอนุมัติ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่พร้อมจะให้ผู้ประกอบการที่จะประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยสามารถยื่นขออาชญาบัตรพิเศษได้ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) และเป็นไปตามนโยบายทองคำที่ต้องมีข้อมูลพื้นฐานประกอบด้วยข้อมูลในพื้นที่ก่อนการทำเหมืองแร่ มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นกับชุมชนในพื้นที่ มีมาตรการดูแลชุมชนที่ชัดเจน และที่สำคัญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ โดยเหมืองจะต้องสร้างประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ได้ขอเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อขอยุติข้อพิพาทนั้น หากตกลงกันได้ในช่วงเวลาที่เหลืออีก 2-3 เดือน ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการในวันที่ 18 พ.ย. 2562 คิงส์เกตฯ จะถอนฟ้องได้ เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฯ
“แนวทางการเจรจาเอกชนจะต้องอยู่ได้ รัฐต้องไม่เสียเปรียบ และกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ส่วนเรื่องของผลกระทบที่ยังคงเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ ต้องไปพิสูจน์และเอาข้อมูลมาดูกันอีกทีว่ามากน้อยขนาดไหน เพราะประชาชนมีปัญหาสุขภาพจริง แต่ประเด็นคือสาเหตุจากเหมืองทองหรือไม่ อย่างบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ผลการศึกษามีข้อบ่งชี้ว่า พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทปจริง เราก็ต้องเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพน้ำ โดยทางกรมบาดาลจะช่วยเข้ามาดูระบบการกรองน้ำ เป็นการช่วยเยียวยา” นายสุริยะกล่าว
นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 10 ราย ประมาณ 100 แปลง ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายคือ 12 จังหวัด ประกอบด้วย เลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สตูล ส่วนของอัคราฯ มีคำขอต่ออายุประทานบัตร 1 แปลง อาชญาบัตรสำรวจแร่อีกหลายสิบแปลง และคำขอต่อใบประกอบโรงโลหกรรมอีก 1 แห่ง แต่ทั้งหมดยังไม่ได้มีการอนุมติใบอนุญาตใดๆ
"หากอัราฯ ยังคงต้องการดำเนินประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องยื่นคำขอใหม่ แต่จะต้องนำส่งข้อมูลเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.ใหม่ที่กำหนดไว้เท่านั้น" นายวิษณุกล่าว