BEM ประเมินปี 62 ธุรกิจทางด่วนยังเติบโตที่ระดับ 2-3% ส่วนรถไฟฟ้าโต 3-4% แต่หลังเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินตลอดสายปี 63 รายได้จะโตก้าวกระโดดกว่า 10% และดันสัดส่วนรายได้รถไฟฟ้าเพิ่มเป็น 40% ภายใน 5 ปี ส่วนทางด่วนเติบโตอัตราคงที่
นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร บริษัท ทางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า ปริมาณจราจรบนทางด่วนขั้นที่ 2 ปัจจุบันมีประมาณ 1.1 ล้านคันต่อวัน ส่วนทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ มีประมาณ 7 หมื่นคันต่อวัน ซึ่งอัตราการเติบโตของปริมาณจราจรบนทางด่วนไม่สูงมาก เฉลี่ยประมาณกว่า 1% ต่อปี และในอนาคต หากโครงข่ายรถไฟฟ้าก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ รูปแบบการเดินทางจะเปลี่ยนจากรถยนต์ไปเป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรางมากขึ้น
ปัจจุบัน BEM มีสัดส่วนรายได้ของธุรกิจทางด่วนที่ 70% และรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้า 30% ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตมากกว่า และส่งผลให้สัดส่วนรายได้ระหว่างทางด่วนกับรถไฟฟ้าจะปรับเป็น 60 ต่อ 40
สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น ในปี 2562 จะยังเป็นการเปิดให้บริการฟรี และจะเริ่มมีรายได้ในปี 2563 หลังจากเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งผลปี 2563 รายได้ในธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตก้าวกระโดดไม่ต่ำกว่า 10% โดยคาดว่าผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า MRT จะเพิ่มจาก 3-4 แสนคนต่อวันในปัจจุบัน เป็น 5 แสนคนต่อวัน
น.ส.ปาหนัน โตสุวรรณการ รองกรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า ในปี 2562 รายได้จากธุรกิจทางด่วนจะเติบโต 2-3% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ตามปริมาณจราจรบนทางด่วนที่เพิ่มขึ้น โดยทางด่วนนอกเมืองโอกาสเติบโตมากกว่าทางด่วนในเมือง ปัจจุบันมีปริมาณจราจร 1.1 ล้านคัน/วัน และปี 63 คาดว่าจะเติบโตไม่มากนัก
ส่วนรายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าในปี 2562 คาดว่าจะเติบโต 3-4% เปรียบเทียบจากปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 5 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 3 พันล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วงประมาณ 2 พันล้านบาท
สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้จากธุรกิจรถไฟฟ้าจะเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 10% หลังจากที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ เปิดให้บริการได้ครบตลอดสายในเดือนมี.ค. 2563