xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ ดับฝันโฆษณาแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด -ความหวังจากรัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่และภาคปฏิบัติ ดูริบรี่ไร้ซึ่งแแสงสว่าง ดับฝันอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้ที่คาดว่าจะกลับมาที่ 1 แสนล้านบาท 'เอเจนซี่' มองทิศทาง 5เดือนที่เหลือมีแต่ปัจจัยลบ และมีเพียงสื่อออนไลน์ที่เติบโตให้อิจฉา ฟากสื่อทีวีเข็นจนเหนื่อย ปรับทัพคอนเท้นท์รีรันกู้ชีพ มองเกมส์ทีวีไม่เปลี่ยนแม้จะหายไป 7 ช่อง แต่ทีวีโฮมช้อปปิ้งจะมีให้เห็นน้อยลง

"ปี2562 คือปีแห่งความหวัง หวังว่าหลังเลือกตั้ง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น เป็นความหวังจากรัฐบาลใหม่ นโยบายที่จะนำมาพัฒนาประเทศ ที่ดูแล้วครอบคลุมในการพัฒนาประเทศในทุกด้าน แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จนต้องหวังและรอดูในภาคปฏิบัติกันต่อไป เพราะจากที่ผ่านมา7 เดือนไปแล้ว ภาพการใช้งบโฆษณายังคงติดลบ 2%" บางส่วนจากการให้สัมภาษณ์จาก ' ภวัต เรืองเดชวรชัย' ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI
รัฐบาลตู่2 ดับฝันโฆษณาแสนล้าน
ทั้งนี้ทางMI ยังได้สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อกับการคาดการณ์ทิศทางการใช้เม็ดเงินโฆษณาในช่วง 5 เดือนของปี 2562 หลังเผยโฉมหน้ารัฐบาลตู่2” ไว้ด้วยว่า

จากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยที่ยังซบเซาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาอุปสรรคต่างๆทั้งในและนอกประเทศ เศรษฐกิจยุโรปที่ตกต่ำ สงครามการค้าจีน-อเมริกา ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทยหดตัว อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ปัญหาภัยแล้ง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ส่งออกแย่ และล่าสุดการลดค่าเงินหยวนจีน การยกระดับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ยังไม่นับรวมปัจจัยอื่นๆที่มีกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมสื่อและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งปีคาดว่าจะโตเพียง 0.93% หรือทำได้เพียง 89,922 ล้านบาท ยังคงต่ำกว่า 1แสนล้านบาทเช่นเดียวกับในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา

และสำหรับโฉมหน้า ครม ตู่2 โดยเฉพาะ รมต. เศรษฐกิจ และนโยบายหลักที่ได้แถลงต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25-26 กค.ที่ผ่านมา แม้โดยสรุปเนื้อหาของนโยบายจะครอบคลุมการแก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของไทย แต่รู้กันดีว่าความท้าทายของรัฐบาลและคณะรมต. ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาสาระของนโยบายและแผนงาน แต่อยู่ที่การลงมือปฏิบัติได้โดยเร็ว ทันต่อสถานการณ์และเห็นผล หลายๆปัญหาโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากหลายๆภาคส่วน

เพราะฉะนั้นหากดูจากรูปการณ์ในปัจจุบันแล้ว เรายังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้านทั้งภายในและภายนอก และดูเหมือนโฉมหน้ารัฐบาลตู่2 ยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจจากตลาดได้ในระยะสั้น คงต้องรอดูฝีมือและให้กำลังใจกันต่อไป

อุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้คาดโตเพียง 0.92%
ภวัต เรืองเดชวรชัย กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถึงสิ้นปีนี้มองว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะโตเพียง 0.92%นั้น หรือมีมูลค่าการใช้จริงเพียง 89,922 ล้านบาท มาจาก3ปัจจัยหลัก คือ 1.ทีวีดิจิตอลหายไป 7ช่องภายในเดือนก.ย.นี้ 2.สถานการณ์เศรษฐกิจ และ3.ดิจิตอลแพลทฟอร์ม ที่แต่ละแบรนด์หันมาใช้งบมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์หรือดิจิตอลแพลทฟอร์มไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง ว่าใช้แล้วจะประสบความสำเร็จ แม้ว่าสื่อออนไลน์จะมีอัตราการเติบโตกว่า 21.9%ในปีนี้ หรือมีมูลค่ากว่า 19,692 ล้านบาท และในปี2563จะเพิ่มเป็น 28.2% หรือกว่า 24,615 ล้านบาท ตามเทรนด์ความนิยมบนเฟสบุค ยูทูป และมาร์เก็ตเพลส หรืออีคอมเมิร์ชที่เติบโตสูง รวมถึงหลายๆแบรนด์สินค้าในทุกหมวดจะหันมาขายผ่านออนไลน์มากขึ้นก็ตาม เพราะสุดท้ายแล้วจะต้องใช้ประกอบกับสื่ออื่นๆร่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มมือถือบางแบรนด์เคยหันไปใช้แต่สื่อออนไลน์แต่สุดท้ายไม่สะท้อนหรือสร้างยอดขายกลับมา ปัจจุบันจึงหันมาใช้ร่วมกับสื่ออื่นๆจึงก่อให้เกิดผลขึ้น

ปีหน้าเผาจริง ตลาดโฆษณาติดลบ 2.83%
ส่วนในปีหน้า คาดว่าอุตสาหกรรมโฆษณาจะติดลบต่อเนื่องอีก 2.83% หรือน่าจะมีการใช้จริงเพียง 87,375 ล้านบาท เพราะปีหน้าถือเป็นปีเผาจริง เพราะไม่มีสถานการณ์ที่ต้องรอดูอย่างปีนี้ ทุกอย่างจะเดินไปตามสถานการณ์ปกติ ไม่มีปัจจัยบวก อาจจะมีปัจจัยลบเข้ามาบ้าง ตามเหตุการณ์ความเป็นไปของโลก

ทั้งนี้จากการหายไปของทีวีดิจิตอล 7ช่อง หรือเม็ดเงินโฆษณาจะหายไปราว 2,000 ล้านบาท และกว่าครึ่งมาจากทีวีโฮมช้อปปิ้ง แต่คาดว่าในปีหน้า ทีวีโฮมช้อปปิ้งยังเป็นผู้เล่นหลักที่จะใช้งบซื้อโฆษณา โดยในแง่เม็ดเงินอาจจะลดลงเล็กน้อย ขณะที่เวลาในการออกอากาศอาจจะหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งไม่นับรวมช่องที่ที่มุ่งเรื่องการเป็นช่องโฮมช้อปปิ้ง หรือที่ทำโฮมช้อปปิ้งเองอยู่แล้ว เพราะภาพทีวีในปีหน้า ทีวีกลุ่มท็อป10 จะเปลี่ยนไป หลายช่องมีการปรับตัวปรับแผน ใช้พื้นที่ออนแอร์ที่เหลือนำเสนอคอนเท้นท์ใหม่ เช่น ช่อง9 ที่ได้ แมกซ์มวยไทยไป หรือช่อง3HD ที่เหลือเพียง1ช่อง จะนำละครกลับมารีรันมากขึ้น เป็นต้น ทำให้ช่วงเวลาขายให้กับทีวีโฮมช้อปปิ้งน้อยลง

นอกจากนี้จากการที่มีการเพิ่มเจ้ามาของละครไพร์มไทม์ในช่องใหม่ๆอย่าง PPTV และอัมรินทร์ทีวี ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะกรทบหรือส่งผลต่อเรตติ้งช่องหลักอย่างช่อง7 และช่อง3 อย่างไร เพียงแต่เชื่อว่าจะทำให้เกิดการแชร์คนดูไปสู่ช่องPPTV และอัมรินทร์ทีวีมากขึ้น โดยที่ช่องวันและช่องจีเอ็มเอ็ม25 ถือเป็นช่องที่น่าจะได้รับกระทบมากสุด เพราะละครที่ช่องใหม่นำเสนอ มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

ส่วนในเรื่องของรายการข่าวไพร์มไทม์ ณ เวลานี้ รายการ 'ไทยรัฐนิวส์โชว์' ของทางช่องไทยรัฐทีวี กำลังมีเรตติ้งแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งแทนรายการ 'ทุบโต๊ะข่าว' ของทางอัมรินทร์ หรือเฉลี่ยมีเรตติ้งที่สูสีกัน ส่วนหนึ่งมาจาก1-2ปีนี้ ทุบโต๊ะข่าวเริ่มนิ่ง บวกกับมีการปรับโฆษณาขึ้น แบรนด์ต่างๆจึงหันมาซื้อในช่องอื่นแทน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า อันดับทีวีท็อปเท็นที่จะเกิดขึ้นใหม่ หลังการหายไปของ7 ช่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงปีหน้า คาดว่าจะเป็นไปตามลำดับต่อไปนี้ คือ 1.ช่อง7 2.ช่อง3 3.ช่องโมโน29 4.เวิร์คพ้อยท์ทีวี 5.ช่องวัน 6.ไทยรัฐทีวี 7. อัมรินทร์ทีวี 8.ช่อง8 9.ช่องเนชั่นทีวี และ10.ช่อง9โมเดิร์นไนน์.
กำลังโหลดความคิดเห็น