xs
xsm
sm
md
lg

“ราชกรุ๊ป” แจงยังไม่เซ็นสัญญาซื้อก๊าซ ปตท.ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง 1.4 พันเมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ราช กรุ๊ป” แจงยังไม่เซ็นสัญญาซื้อก๊าซฯ จาก ปตท.ป้อนโรงไฟฟ้าหินกอง 1.4 พันเมกะวัตต์ อ้างต้องถกเรื่องค่าความร้อนก๊าซฯ ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการจูนเครื่องจักรเพิ่มเติม


นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทฯยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เนื่องจากยังต้องเจรจารายละเอียดเรื่องค่าความร้อนของก๊าซฯ ที่จะป้อนกับโรงไฟฟ้าหินกองทั้ง 2 โรง จ.ราชบุรี กำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายในการปรับจูนเครื่องจักรผลิตไฟฟ้ามาก จึงต้องเจรจาอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกัน บริษัทก็มองช่องทางการจัดหาก๊าซฯจากการนำเข้าด้วย เพื่อให้ต้นทุนไฟฟ้าต่ำที่สุดและยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่ 3 (TPA) ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการลงนามสัญญาจัดหาก๊าซฯล่าช้ากว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องลงนามสัญญาซื้อก๊าซฯ ภายใน 30 วันหลังจากบริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โรงไฟฟ้าหินกอง 1,400 เมกะวัตต์เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 62 ก็ไม่มีผลต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าหินกองแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทได้ชี้แจ้งไปยัง กฟผ.แล้ว โดยโรงไฟฟ้าหินกองอยู่ระหว่างการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะได้รับอนุมัติในปีหน้า และเริ่มก่อสร้างในปี 2564 กว่าจะแล้วเสร็จและจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2567-68 ยังอีกนานก็น่าจะมีเวลาพิจารณาให้รอบคอบ ล่าสุดทางพันธมิตรอินโดนีเซียที่ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าเรียวก็สนใจจัดหาแอลเอ็นจีป้อนให้โรงไฟฟ้าหินกองด้วย แต่ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาและมีเงื่อนไขให้ดี

นายกิจจากล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอยู่ที่ 20% ในปี 2566 โดยจะเริ่มจัดทำแผนการลงทุนตั้งแต่ปี 2563 โดยบริษัทร่วมมือกับพันธมิตร ในการเข้าร่วมประมูลโครงการ PPP ของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และสายสีเทา และโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย ที่จะเปิดประมูลงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (O&M) เส้นบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. และเส้นบางใหญ่-กาญจนบุรี 96 กม., ระบบจัดการพลังงานในนิคมฯ โดยได้คุยกับพันธมิตรนวนคร และโครงข่ายโทรคมนาคม

ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 9,416 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตจากธุรกิจไฟฟ้า 9,222 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตเทียบเท่าจากธุรกิจอื่นๆ 194 เมกะวัตต์ โดยครึ่งปีหลังนี้จะได้ข้อสรุปการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมอีก 1-2 โรง มีกำลังการผลิตโรงละไม่ต่ำกว่า 100เมกะวัตต์ ดังนั้น บริษัทฯยังคงเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2566 แม้ว่าในอนาคตจะไม่คำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกต่อไปก็ตาม รวมทั้งบริษัทมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โครงการที่จะหมดอายุในปี 2563-70 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์หมดอายุในเดือน ก.ค. 2563, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2568 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2570

ทั้งนี้ บริษัทฯ มองหาโอกาสการเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟแล้วและโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อรับรู้รายได้เร็วขึ้น สนใจเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์

แม้ว่าในอนาคตจะไม่คำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่าจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกต่อไปก็ตาม รวมทั้งบริษัทฯมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 3 โครงการที่จะหมดอายุในปี 2563-70 ได้แก่ โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์หมดอายุในเดือน ก.ค. 2563, โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรี ขนาด 1,470 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2568 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรี ขนาด 2,175 เมกะวัตต์ หมดอายุในปี 2570

น.ส.พรวดี รัตน์เจริญกุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่การเงิน บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจว่ามีผลการดำเนินงานในปี 62 เติบโตดีกว่าปี 61 กว่า 13% เนื่องจากปีนี้มีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟเข้ามาระบบ 180 เมกะวัตต์รวมกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียนเซน้ำน้อยที่จะจ่ายไฟในเดือน ธ.ค.อีก รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำอาซาฮาน 1 ขนาดกำลังการผลิต 180 เมกะวัตต์ ในประเทศอินโดนีเซียที่จะรับรู้รายได้เต็มปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น