xs
xsm
sm
md
lg

หมดยุค “สินค้าสร้างภาพ” รีวิวขายความจริง : ยุคทอง 'ไมโครฟลูเอนเซอร์' อัปราคาขึ้น 30% เบียด “ดารา-เซเลบ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การตลาด - การตลาดยุคดิจิทัล โลกของการรีวิวตีแผ่ความจริงได้ใจและได้เงินจากกระเป๋าผู้บริโภคไปแบบเต็มๆ ยุคทองไมโครอินฟลูเอนเซอร์เมืองไทย ยิ่งรีวิวมาก ยิ่งเพิ่มโอกาสและตัวตนสูงบนโลกออนไลน์ อาชีพในฝันเด็กไทย บันไดสู่การหารายได้ง่ายๆ แค่เพียงคลิกเดียว

ปัจจุบันรูปแบบการทำตลาดของแบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ บนโลกออนไลน์ทรงอิทธิพลขึ้นมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2559 โซเชียลมาร์เกตติ้งเริ่มเข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิต และในปี 2560 ถัดมาเป็นยุคดาราเซเลบริตีรีวิวสินค้า จนมาสู่ปี 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์เริ่มเป็นเครื่องมือสำคัญของการทำการตลาดมากขึ้น

กระทั่งมาในปี 2562 นี้ จากระดับอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียง ผู้บริโภคเริ่มเอาใจออกห่างและเลือกเชื่อถือบุคคลธรรมดาที่หันมารีวิวเองกับการใช้สินค้านั้นจริงมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มนี้เรียกว่า 'ไมโครอินฟลูเอนเซอร์' ที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงกองทัพมด แต่อนาคตมดตัวเล็กๆ กองทัพนี้จะเป็นผู้ชี้ชะตารายได้ให้แก่แบรนด์ว่าจะรุ่งหรือจะร่วงเพียงคลิกเดียว

นายอนุพงศ์ จันทร ผู้บริหาร Revu แพลตฟอร์มด้านการรีวิวสินค้าและบริการอันดับหนึ่งของประเทศไทยในเครือ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค จะต้องมีการเสิร์ชถึง 3 ครั้งก่อนซื้อสินค้า เริ่มจากความสนใจแบรนด์นั้นก่อน ทำให้การเสิร์ชครั้งแรกเริ่มขึ้นเพื่อต้องการการรู้จักแบรนด์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการหาข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของแบรนด์

ต่อมาของการเสิร์ชครั้งที่สอง จะเกี่ยวกับสินค้าและบริการของแบรนด์นั้นๆ เป็นการเสิร์ชหาการรีวิวสินค้าผ่านกลุ่มดาราเซเลบ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ จนก่อให้เกิดการเสิร์ชครั้งที่สาม คือ การเสิร์ชเพื่อหาข้อมูลการรีวิวในการใช้สินค้าจริงของผู้บริโภคทั่วไป ถือเป็นปัจจัยในตอนสุดท้ายที่ช่วยการตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้านั้นหรือไม่

"การรีวิวสินค้าผ่านกลุ่มผู้ใช้จริงทั่วไป หรือที่เรียกว่า ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ได้เป็นการรับประกันหรือการันตีเรื่องการสร้างยอดขาย ว่าสุดท้ายผู้บริโภคเห็นรีวิวนั้นแล้วจะต้องซื้อในอัตราส่วนแค่ไหน แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้แบรนด์นั้นมีความน่าเชื่อถือ จนนำมาสู่การตัดสินใจซื้อในขั้นตอนสุดท้ายได้ดีที่สุด แม้ว่าจะเป็นการรีวิวทั้งด้านดีและไม่ดี แต่หัวใจสำคัญคือความจริงใจ ความเรียล จึงจะได้ใจผู้บริโภค มากกว่าการใช้ดารา เซเลบ หรือการจ้างรีวิวนำเสนอแต่ด้านดีให้กับสินค้าและแบรนด์อย่างที่ผ่านมา"

โดยพบว่าที่ผ่านมามีกรณีของแบรนด์สินค้าหนึ่งที่มุ่งใช้ดาราและเซเลบรีวิวสินค้ากว่า 7 รายในครั้งเดียว เพื่อสร้างกระแส แต่ไม่ให้ความสำคัญในการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ปรากฏว่าแบรนด์นั้นเป็นกระแสจริงแต่ไม่ตอบโจทย์ด้านยอดขาย เพราะผู้บริโภคเสิร์ชไม่เจอรีวิวการใช้จริง ทำให้ไม่ซื้อสินค้านั้น เทียบกับอีกแบรนด์หนึ่ง เกี่ยวกับน้ำดื่ม กระแสเกิดจากความสงสัยของผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ นำมาซึ่งการเสิร์ชหารีวิวการใช้จริงที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากหลักพันหลักหมื่นวิวสู่หลักล้านวิว สุดท้ายแบรนด์นั้นกลับมียอดขายเพิ่มสูงขึ้นเพียงเพราะการใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์รีวิวการใช้สินค้าจริง

"ปัจจุบันตลาดอินฟลูเอนเซอร์เมืองไทยมีมากถึงหลักล้านคนขึ้นไป กลุ่มใหญ่สุดคือ ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือกลุ่มที่ใช้จริงและนำมารีวิว มีกว่า 2 ล้านคน ส่วนกลุ่มที่ทรงอินธิพลมากสุดยังเป็นดาราและเซเลบ โดยเรตการรีวิวสินค้ายังแพงสุด แต่ปีนี้เทรนด์การใช้ดาราเซเลบรีวิวสินค้าเริ่มแผ่วลง เพราะผู้บริโภคเริ่มไม่เชื่อ ต่างจากกลุ่มไมโครอินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์จริงๆ กลับเป็นกลุ่มที่รีวิวสินค้าแล้วผู้บริโภคเชื่อมากกว่า ทำให้ปีนี้เรตราคารีวิวสินค้าของกลุ่มนี้มีการปรับราคาสูงขึ้นอีก 30% ส่งผลให้กลุ่มไมโครอินฟลูเอนเซอร์เติบโตตามไปด้วย" นายอนุพงศ์กล่าวแสดงความคิดเห็น

ดังนั้นการทำตลาดบนโลกออนไลน์จะต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้องและต้องใช้แบบผสมผสานกัน จะเลือกใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ หรือเลือกใช้เฉพาะแพลตฟอร์มใดเพียงอย่างเดียวไม่ได้เช่นกัน ที่สำคัญต้องวางกลยุทธ์เลือกใช้เครื่องมือและช่องทางต่างๆ ให้ดี ว่าต้องการตอบโจทย์ในเรื่องใด ที่สำคัญไม่ควรใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบหว่านเพื่อทำตลาด ทำแบบนั้นย่อมไม่เกิดผลและไม่มีประโยชน์

มูลค่าอินฟลูเอนเซอร์ไทยร่วม 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันตลาดรวมอินฟลูเอนเซอร์ในประเทศไทยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1,000-2,000 ล้านบาท หรือมีจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมดประมาณ 2 ล้านคน ประกอบด้วย 4 กลุ่มหลัก คือ

1. ดาราเซเลบ ประมาณ 500 คนขึ้นไป มียอดผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อราย มีช่องทางสื่อสาร คือ เฟซบุ๊ก 30%, อินสตาแกรม 90%, ยูทูป 20% และบล็อก 5

2. เพาเวอร์อินฟลูเอนเซอร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ บล็อกเกอร์ 5,000 กว่าคน เฟซบุ๊ก เพจ ประมาณ 10,000 เพจขึ้นไป และโซเชียลไอดอลอีกกว่า 50,000 คนขึ้นไป โดยทั้งหมดมียอดผู้ติดตามตั้งแต่ 1 แสน-1 ล้านคนต่อราย

3. เพียร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ มีประมาณ 1,000 คนขึ้นไป มียอดผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000-100,000 คนต่อราย มีช่องทางสื่อสาร คือ เฟซบุ๊ก 90%, อินสตาแกรม 70%, ยูทูป 50%, บล็อก 80% และโซเชียลคอมมูนิตี 30%

4. ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ มีมากกว่า 1 ล้านคน มียอดผู้ติดตามประมาณ 1,000-100,000 คนต่อราย มีช่องทางสื่อสาร เฟซบุ๊ก 100%, อินสตาแกรม 70%, ยูทูป 30%, บล็อก 70% และโซเชียลคอมมูนิตี 60%

โดยพบว่าอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มดาราเซเลบยังเป็นกลุ่มที่มีเรตราคาการรีวิวสินค้าสูงที่สุด แต่ปี 2562 นี้มีการเลือกใช้ลดลง จะหันมาใช้กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ตัวท็อปรีวิวสินค้าแทน ส่งผลให้เรตราคาการรีวิวสินค้าของกลุ่มนี้ปรับราคาเพิ่มขึ้น 30% ส่วนอินฟลูเอนเซอร์ที่มาแรงและคนอยากเป็นมากสุด คือ ยูทูปเบอร์

ขณะที่การเข้าสู่อาชีพอินฟลูเอนเซอร์มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันบนแพลตฟอร์ม revu พบว่ารีวิวเวอร์เด็กสุดคือ 14-15 ปี อายุมากสุดคือ 45 ปี กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่หายากสุดคือ กลุ่มคนท้อง ในการรีวิวสินค้าเกี่ยวกับแม่และเด็ก โดยสินค้าที่มีการรีวิวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1. แฟชั่น/บิวตี้ 2. ไลฟ์สไตล์ และ 3. แก็ดเจ็ต/ของใช้ภายในบ้าน

ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้เงินแต่ได้สร้างตัวตน
จะเห็นได้ว่าเทรนด์การเป็นอินฟลูเอนเซอร์มีอายุเด็กลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ปี 3-ปี 4 เริ่มหันมาเป็นรีวิวเวอร์มากขึ้น เพราะต้องการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์และเพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ในอนาคต ที่เกิดขึ้นง่ายเพียงแค่คลิกเดียวบนโลกออนไลน์ในปัจจุบัน

แต่การที่จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับท็อปได้ต้องมีความเป็นยูนีก แตกต่าง และหลายส่วนประกอบกัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการเริ่มเป็นไมโครอินฟลูเอนเซอร์มาก่อน เริ่มจากการรีวิวสินค้าใช้จริง สร้างชื่อสร้างตัวตนจนมีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ตัวท็อป จึงจะเริ่มมีรายได้เข้ามาเป็บกอบเป็นกำ

นายอนุพงศ์กล่าวว่า ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ ะไม่มีรายได้จากการรีวิวสินค้าใช้จริง เพียงได้สินค้าไปทดลองใช้ฟรีเท่านั้น ซึ่งบนแพลตฟอร์ม revu ปัจจุบันมีนักรีวิวให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกแล้วมากกว่า 11,000 คน หรือเข้าใหม่ที่ 500 คนต่อเดือน อายุน้อยสุด 15-16 ปี มากสุด 45 ปี ซึ่งบริษัทตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีนักรีวิวอยู่บนแพลตฟอร์มทะลุ 15,000 คน

ส่วนปัจจัยที่ทำให้นักรีวิวให้ความสนใจแพลตฟอร์มของ Revu เพิ่มขึ้นนั้น มาจากการจับมือกับแพลตฟอร์ม sellzabuy.com ของวายดีเอ็มเพื่อช่วยนักรีวิวในการนำเสนอสินค้าหรือบริการได้อย่างสะดวกมากขึ้นและมีการแบ่งรายได้บางส่วนจากยอดลงโฆษณาบน sellzabuy.com

การเป็นไมโครฟลูเอนเซอร์ในวันนี้ จึงเป็นบันไดในการก้าวไปสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่จะมีรายได้เข้ามาในอนาคต ซึ่ง Revu ถือเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยพัฒนาทักษะของการเป็นนักรีวิวที่ดี ทั้งในด้านงานเขียนและการถ่ายรูป รวมถึงดึงสินค้าต่างๆ ให้ไปรีวิว ที่จะช่วยให้ไมโครฟลูเอนเซอร์รายนั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนเข้าสู่อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ที่น่าเชื่อถือและมีรายได้ต่อไปในอนาคต ที่เชื่อว่าตลาดอินฟลูเอนเซอร์จะทรงอิทธิพลเป็นเท่าตัวในอนาคตอันใกล้นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น