ส.อ.ท.-สภาหอฯ ต่างทยอยเข้าหารือ ธปท.วันพรุ่งนี้ 8 (ส.ค.) เพื่อหามาตรการดูแลค่าเงินบาทอีกระลอก แม้ กนง.ล่าสุดจะลดดอกเบี้ย แต่ยังควรมีมาตรการเพิ่มเติมหลังสงครามการค้าลามเป็นสงครามค่าเงิน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ส.อ.ท.มีกำหนดเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วันที่ 8 ส.ค.นี้ เพื่อหารือถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยภายใต้แรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่เริ่มยกระดับสู่สงครามค่าเงิน
“รู้สึกเซอร์ไพรส์ที่คณะกรรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาในการประชุมวันนี้ (7 ส.ค.) ซึ่งก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ ธปท.เองคงจะต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้บาทแข็งค่าเกินภูมิภาคด้วย รวมถึงแนวทางผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายกันเองในภูมิภาค เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน” นายสุพันธุ์กล่าว
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและสหรัฐยังคลุมเครือ สภาหอฯ มีกำหนดการเข้าพบกับ ธปท.เช่นกันช่วงบ่ายของวันที่ 8 ส.ค.นี้ และในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ชุดเล็ก มีกำหนดการเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ วันที่ 14 ส.ค.นี้ เพื่อหาแนวทางกระตุ้นการส่งออกและการค้าชายแดนด้วย
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยทำหน้าที่ประธานที่ประชุม กกร. กล่าวว่า กกร.ยังคงประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ทั้งปีคาดโตอยู่ที่ 2.9-3.3% จากปีก่อนโต 4.1% การส่งออกคาดติดลบ 1% หรือขยายตัวได้เพียง 1% จากปีก่อนโต 6.9% เงินเฟ้อคาดโต 0.8-1-2% ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังต้องเผชิญความท้าทายจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่มีความเสี่ยงจะรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่สร้างแรงกดดันต่อทิศทางเศรษฐกิจให้มีแนวโน้มชะลอตัวลง
นอกจากผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่เตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ และจีนได้ปรับค่าเงินหยวนอ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 11 ปี จะมีความเสี่ยงรุนแรงมากขึ้น ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแกว่งตัวผันผวนและอาจแข็งค่าขึ้นอีก จากที่ผ่านมาตั้งต้นปีเงินบาทของไทยแข็งค่าแล้ว 5.9% และแข็งค่าที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเดียวกัน เป็นแรงกดดันที่ไม่เอ้อต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้