xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” จี้ทุกส่วนปรับตัวรับเทคโนโลยีเปลี่ยน ชี้พลังงานทดแทนมาแรงทำค่าไฟต่ำลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สนธิรัตน์” แนะทุกส่วนปรับตัวรองรับเทคโนโลยีเปลี่ยนหลังพลังงานทดแทนมาแรงแนวโน้มทำค่าไฟลดต่ำ ไทยต้องก้าวไปสู่จุดนี้โดยเฉพาะ กฟผ. “กุลิศ” ถกสัปดาห์หน้าเด้งรับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดวิสัยทัศน์ในงานสัมมนา “Energy Dispution : พลังงานไทย ยุค...ดิสรัปชั่น ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ณ ห้องแกรนด์บอลรูมโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ ว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมีความรวดเร็วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ทำให้ทุกฝ่ายต้องปรับตัวรวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะก้าวไปสู่การพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทนที่กำลังมาแทนที่พลังงานฟอสซิลและมีแนวโน้มที่จะทำให้ต้นทุนค่าไฟต่ำลง


“พลังงานทดแทนเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีมากขึ้น แม้แต่อดีตจะมีแต่พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แต่วันนี้ก็ถูก Disrupt เป็นติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ทำให้ในอนาคตประชาชนจะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ คือ ผู้บริโภคกลายเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบ (prosumer) ซึ่งทำให้กระทรวงฯ ต้องไปดู grid modernization เรื่องของแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้า และในอนาคตจะปรับสู่สมาร์ทมิเตอร์ จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงสำคัญในอนาคต” นายสนธิรัตน์กล่าว


ทั้งนี้ พลังงานทดแทนมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลงอย่างรวดเร็ว จึงได้สั่งการให้ปรับแก้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) โดยปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงพลังงาน ผ่านการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน อีกทั้งหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้โรงไฟฟ้าชุมชนสำเร็จ คือ ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ที่จะเข้ามาช่วยกักเก็บพลังงานส่วนเกิน เป็นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้น กระทรวงฯ จะจับมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ESS

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นโยบายกระทรวงพลังงานที่จะรองรับดิสรัปชันคือ 4D และ 1E ประกอบด้วย 1. DIGITALIZAION 2. DECARBONZATION 3. ELECTRIFICATION 4. DECENTRALIZAION และ5.DE-REGULATION โดยเรื่องของ DIGITALIZAION จะยกระดับโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยจะขยายสายส่งไฟฟ้าจาก 115 เควี เป็น 500 เควี หรือ 800 เควี เพื่อให้สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนได้และเข้าถึงพื้นที่ชุมชนได้ โดยช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมาได้หารือร่วมกับ 3 การไฟฟ้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานทดแทนในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเชิญภาคเอกชนอย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาร่วมประเมินและกำหนดศักยภาพของเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วย


“สัปดาห์หน้าจะเรียกประชุมคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำโครงการต้นแบบ (pilot project) เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าชุมชน ที่มีการผลิตไฟฟ้าใช้เองและส่วนที่เหลือใช้ให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเองในพื้นที่ในลักษณะแซนด์บ็อกซ์ ที่จะทดสอบเทคโนโลยีซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ คาดว่าจะเห็นผลภายใน 3 เดือน และหากสำเร็จก็จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป” นายกุลิศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น