xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” จ่อหารือ ธปท.วอนดูแลค่าบาท ชี้เอกชนหวัง 32 บ./เหรียญฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“สุริยะ” แย้มพร้อมหารือ ธปท.เพื่อหาแนวทางดูแลค่าเงินบาทหลังฉุดขีดแข่งขันส่งออก แย้มเอกชนหวังแตะ 32 บาทต่อเหรียญฯ วางกรอบ 3 เดือนเร่งโรดโชว์ดึงลงทุนในจีนและสหรัฐฯ ชูไทยฐานผลิตหนีสงครามการค้า




นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานเสวนาในงานบางกอกโฟสต์ ฟอรัม 2012 หัวข้อทิศทางประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ Roadmap to Success : Up Close with Thailand’s New Ministers ว่า เร็วๆ นี้จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางช่วยชะลอการแข็งค่าเงินบาทเนื่องจากมีผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันภาคส่งออกไทยซึ่งจากที่หารือกับเอกชนต้องการค่าเงินบาทที่ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“ถ้าสามารถขอร้อง ธปท. ก็อยากให้ผู้ว่าฯ ธปท.ดูแลเรื่องนี้เป็นพิเศษ หากเข้าไปแทรกแซงแล้วขาดทุนก็เป็นสิ่งที่ธปท.รับภาระ แต่ผลที่มีต่อภาคเอกชนน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ ธปท.เสียหาย แต่ตามกฎหมายแล้วการทำงานของ ธปท.ก็ต้องมีอิสระ” นายสุริยะกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและส่งผลกระทบต่อไทยด้วย แต่ภาวะนี้ก็ยังมีโอกาสต่อการลงทุนเพราะนักลงทุนใน 2 ประเทศนี้กำลังประสบปัญหาด้านภาษีที่สูงขึ้น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเดินทางไปนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) ในจีน และสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 เดือน เพื่อดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนประเทศเหล่านี้เข้ามาลงทุนไทยมากขึ้น พร้อมที่จะผลักดันให้การลงทุนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงดูดนักลงทุนประเทศเป้าหมายเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศหลักที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด

“ไทยนับว่ามีศักยภาพที่จะดึงดูดนักลงทุนนอกเหนือจากค่าแรง แต่ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง การมีพื้นที่การลงทุนที่มีศักยภาพอย่างในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนการมีคัสเตอร์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ก็นับว่าไทยมีความได้เปรียบและทำให้ไม่กังวลว่าจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันให้กับเวียดนามแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมรองรับด้วย” นายสุริยะกล่าว

นอกจากนี้จะสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีด้วยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่ตอบโจทย์วิถีไทย และเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการเชื่อมโยงเอสเอ็มอีกับภาคการเกษตร ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเชื่อมโยง ซึ่งเร็วๆ นี้จะได้ไปหารือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อหาแนวทางสนับสนุนดังกล่าวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น