xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” คุมเบ็ดเสร็จ! เปิดนโยบายด่วน ปรับสปีดรถ 120 กม./ชม.ช่วยระบายรถ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมมอบนโยบายการบริหารงานแก่ผู้บริหารและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม พร้อมกันนี้ นายศักดิ์สยาม ได้ลงนามในคำสั่งที่ 214/2562 แบ่งความรับผิดชอบในการกำกับดูแลหน่วยงานแล้ว

นายศักดิ์สยามรับผิดชอบกำกับดูแลหน่วยงานทางบก ทางราง และทางอากาศบางส่วน รวม 13 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 2. กรมทางหลวง (ทล.) 3. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 4. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 5. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 6. การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 7. บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด 8. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 9. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 10. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 11. บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 12. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 13. สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)


นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลหน่วยงานทางน้ำ 2 หน่วย ได้แก่ 1. กรมเจ้าท่า (จท.) 2. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)


ส่วนนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลหน่วยงานทางอากาศ รวม 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรมท่าอากาศยาน 2. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 3. บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) 4. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด (รทส.) 6. บริษัท ไทยสมายแอร์เวย์ส จำกัด 7. บริษัท ไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์ เอเชีย จำกัด (ทอส.)


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า นโยบายให้คำนึงถึงการให้บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ประหยัด ยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาภาระค่าครองชีพ โดยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ลดภาระงบประมาณให้รัฐบาล โดยการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์เต็มประสิทธิภาพ ทุกโครงการของกระทรวงคมนาคมต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีนโยบายเร่งด่วน 4 เรื่องโดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูล และนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้ง 4 เรื่องให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน


ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งมีตัวอย่างจากโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ดังนั้นให้ทุกหน่วยงานเจ้าของโครงการวางแผนล่วงหน้า ต้องบูรณาการดำเนินการกับหน่วยงานอื่น และภาคประชาชนก่อนดำเนินงาน โดยไม่ให้กระทบต่อแผนและกรอบการใช้งบประมาณ
2. การแก้ไขปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากรถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ โดยเข้มงวดการตรวจสอบสภาพรถให้เป็นไปตามกฎหมาย
3. ปรับเวลารถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เฉพาะหลัง 24.00-04.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการจราจรและการใช้รถใช้ถนนของประชาชนในปัจจุบัน โดยให้ประสานตำรวจ
4. ปรับเพิ่มความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนน 4 ช่องทางจราจรขึ้นไป รวมถึงมอเตอร์เวย์ ทางด่วน โดยไม่จำกัดประเภทรถ ทั้งนี้เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัวยิ่งขึ้น สำหรับการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่มักจะอยู่บนถนน 2 ช่องจราจรมากกว่า และมาจากพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งให้หารือกับฝ่ายตำรวจในการกำหนดมาตรการต่อไป


สำหรับการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น ภายใน 1 เดือนจะต้องมีผลการศึกษา และนำเสนอแผนงานแนวทางปฏิบัติในเรื่องลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า และลดค่าผ่านทางด่วน, มอเตอร์เวย์, ดอนเมืองโทลล์เวย์ ตั้งแต่ 5-10 บาท โดยไม่มีผลกระทบต่อสัญญา พัฒนาการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถร่วมฯ ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศทั้งระบบ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารเป็นระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Ticket ระบบตั๋วร่วม

*** ศึกษา แกร็บ แท็กซี่ 3 เดือนรู้เรื่อง
สำหรับนโยบายภายใน 3 เดือน ได้แก่ การสร้างทางเลือกใหม่ โดยการให้บริการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชัน และกำหนดแนวทาง มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะ (TAXI) รูปแบบเดิม โดยให้กรมการขนส่งทางบกศึกษารูปแบบ เงื่อนไขการอนุญาตบริการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับศึกษาและกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถรับจ้างโดยสารสาธารณะ (TAXI) ในปัจจุบันให้มีการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย
นอกจากนี้ ให้จัดทำแผนการใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ และแก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บเงินทางด่วน และมอเตอร์เวย์


***เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน PPP ก่อสร้างรถไฟทางคู่เฟส 2
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การพัฒนารถไฟทางคู่ มีเป้าหมายเพิ่มการขนส่งระบบรางจาก 5-10% เป็น 30% ภายในเวลา 3 ปี และสนับสนุนภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถ เพื่อประโยชน์สูงสุด และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสามารถใช้ให้เกิดผลตอบแทนอย่างคุ้มค่าสูงสุดในอนาคตเพื่อให้บริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในส่วนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.พร้อมหารือเพื่อทำความเข้าใจและรับฟังข้อคิดเห็น เพื่อพัฒนาระบบรางให้เป็นไปตามเป้าหมาย


*** เพิ่มการขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุน และเป็นทางเลือกเดินทาง
สำหรับทางน้ำ จะพัฒนาท่าเรือและเรือโดยสารเพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยจะต้องเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งระบบอื่นๆ ได้สะดวก ส่วนการขนส่งสินค้า และรถบรรทุก ให้ทำแผนพัฒนาท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เชื่อมไปท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยจะเห็นเป็นรูปธรรมในปลายปี 2562


ส่วนการขนส่งทางอากาศ มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านคนภายใน 3 ปี รวมถึงสนับสนุนสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airline) ให้บริการประชาชนในภูมิภาคเพิ่มขึ้น และให้มีคุณภาพการให้บริการตามมาตรฐานสากล และให้ศึกษาเรื่อง Slot การบินภายในประเทศ เพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง โดยให้การบินไทย และไทยสมายล์มีต้นทางเที่ยวแรกจากสนามบินภูมิภาค


*** ใช้นโยบาย “Thai First” ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน
อย่างไรก็ตาม การจัดทำโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้หลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน เป็นหลักสำคัญ เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนอยู่ในประเทศไทย


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เพื่อสนับสนุนภาคเกษตรกร ชาวสวนยาง ได้มอบหมายให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทศึกษาการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพาราในโครงการต่างๆ เช่น หลักเขตบอกทาง หมอนรางรถไฟ และแบริเออร์จากยางพารากั้นแทนเกาะกลางถนน เป็นต้น เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา และส่งเสริมให้ท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิต และกระจายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาด


กำลังโหลดความคิดเห็น