“พีอีเอ เอ็นคอม” ชงบอร์ดฯ เพิ่มวงเงินลงทุนในบริษัทร่วมทุน “TDED” ส.ค.นี้ หวังรุกตลาดโซลาร์รูฟท็อป วางเป้า 5 ปีนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ PEA ENCOM ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า พีอีเอ เอ็นคอม เตรียมเสนอวาระจัดสรรวงเงินการลงทุนเพิ่มในบริษัท Thai Digital Energy Development จำกัด (TDED) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในเดือน ส.ค.นี้
ทั้งนี้ TDED เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง พีอีเอ เอ็นคอม ถือหุ้น 25% กับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ถือหุ้น 75% เพื่อพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดโดยใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ ก่อนหน้านี้ได้พิจารณาวงเงินร่วมทุนในเบื้องต้นแล้ว แต่ได้มีการปรับใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการลงทุน จึงต้องนำเสนอขออนุมัติจากบอร์ดฯ อีกครั้ง
ปัจจุบันโครงการลงทุนภายใต้ TDED มีอยู่ 2 โครงการ โดย BCPG ได้นำโครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI ย่านสุขุมวิท 77 หรือ T 77 และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้โครงการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในช่วงออกแบบก่อสร้าง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แล้วเสร็จปลายปีนี้ และเริ่มรับรู้รายได้ปีหน้า
นายเขมรัตน์กล่าวว่า แผนการลงทุนของ TDED ในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 2562-2566) วางเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ สร้างรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท จะเน้นการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภค
ส่วนแผนการลงทุนของพีอีเอ เอ็นคอมในปี 2562 ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 230 ล้านบาท โดยขณะนี้มีลูกค้าในมือแล้วประมาณ 20 ราย รวมกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นรูปแบบของการจำหน่ายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการ (Private PPA) โดยส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตเพิ่มเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ (TOR) เพื่อเข้าสู่กระบวนการรับเหมาก่อสร้างโครงการ มั่นใจสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ตามแผนในปี 2563 โดยบริษัทฯจะลงทุนในสัดส่วน 40% ของส่วนทุน, ภาคเอกชน 40% และวิสาหกิจชุมชน 20% ระยะเวลาโครงการ 20 ปี ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ1,550 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ยะลาและปัตตานี แห่งละประมาณ 300 ล้านบาท รวมกว่า 600 ล้านบาท และที่นราธิวาสกว่า 700 ล้านบาท