xs
xsm
sm
md
lg

ขยับเซ็นไฮสปีด 3 สนามบิน เหตุยังติดปมย้าย “ท่อน้ำมัน-สายไฟแรงสูง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.ฟ.ท.ขยับเซ็น ซี.พี. รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เหตุยังติดรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่ชัดเจน เร่งเจรจา “ปตท.-กฟผ.” ทำแผนรื้อย้ายท่อน้ำมัน ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และสายไฟแรงสูง 16 จุด โดยต้องรับภาระค่ารื้อย้ายตามสัญญาเช่าที่รถไฟด้วย

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การเจรจาแผนส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม.ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซี.พี.) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งการรวบรวมข้อมูลยังไม่ครบถ้วนจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยนัดหารือกับกลุ่ม ซี.พี.ในวันที่ 31 ก.ค.เพื่อตรวจสอบข้อมูลร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากตามแนวเส้นทางก่อสร้างจะมีสาธารณูปโภคของหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่อยู่ใต้ดิน และบนพื้นดิน ซึ่งอาจกีดขวางการก่อสร้าง หรือมีผลกระทบต่อการให้บริการรถไฟฟ้าได้ เช่น ท่อน้ำมัน, ท่อก๊าซ, ท่อประปา ที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งพบว่าช่วงพญาไท-ดอนเมืองมีท่อน้ำมัน และท่อก๊าซอยู่ ส่วนสายไฟฟ้าแรงสูง
พบกระจายอยู่ตลอดแนวเส้นทาง ประมาณ 16 จุด ซึ่งตัดกับแนวรถไฟความเร็วสูง อาจต้องขยับ หรือยกสูงเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าของรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

โดยเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน จะประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่วนท่อประปา จะมีปัญหาการรื้อย้ายน้อยกว่า เพื่อหารือถึงแผนการรื้อย้ายว่าต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร และจะมีผลต่อการก่อสร้างของ ซี.พี.หรือไม่ ซึ่งยอมรับว่าการลงนามสัญญากับกลุ่ม ซี.พี.จะไม่ทันเดือน ก.ค.นี้ เพราะต้องรอให้แผนการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด ชัดเจนครบถ้วนก่อน

“การรื้อย้ายระบบสาธาณูปโภคที่กีดขวางการก่อสร้าง ตอนนี้ข้อมูลยังไม่ครบ และยังต้องหารือกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสาธารณูปโภคอีกว่าจะใช้เวลารื้อย้ายแค่ไหน ซึ่งสัญญา ซี.พี.มีเวลาก่อสร้าง 5 ปีหลังเซ็นสัญญา แต่หากหน่วยงานบอกว่าใช้เวลาย้ายสาธารณูปโภค 5 ปี แบบนี้ ซี.พี.ก่อสร้างไม่ทัน
ดังนั้นต้องไปหารือแผนงานกันให้ชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ หน่วยงานขอเช่าที่รถไฟในการใช้ประโยชน์ ซึ่งสัญญาเช่าระบุว่า หาก ร.ฟ.ท.ต้องการใช้พื้นที่ หน่วยงานนั้นๆ จะต้องดำเนินการรื้อย้าย และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายด้วย

สำหรับพื้นที่ใช้ในการก่อสร้างที่สรุปตรงกันมีกว่า 4,300 ไร่ เป็นพื้นที่รถไฟจำนวน 3,571 ไร่ พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ มีจำนวน 42 แปลง จะใช้เวลาส่งมอบ 2 ปี นับจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน

โดยพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.จำนวน 3,571 ไร่นั้นพร้อมส่งมอบในช่วงแรกจำนวน 3,151 ไร่ (80%) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. พื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 210 ไร่ จะเคลียร์ภายใน 2 ปี 2. พื้นที่ติดสัญญาเช่า จำนวน 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา ดำเนินการภายใน 1 ปี

ที่ดินมักกะสันทั้งหมดจำนวน 142.26 ไร่ ส่งมอบช่วงแรก 132.95 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 9.31 ไร่ เนื่องจากเป็นพื้นที่พวงราง ซึ่งทาง ซี.พี.ต้องดำเนินการย้ายพวงรางออกไปก่อนจึงจะเข้าใช้ประโยชน์ได้ ส่วนสถานีศรีราช จำนวน 27.45 ไร่ ซี.พี.จะต้องก่อสร้างแฟลตบ้านพักรถไฟทดแทนให้ก่อนจึงจะเข้าพื้นที่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น