ปตท.ลั่นเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซ กับ “ราช กรุ๊ป” และ “เอ็นพีเอส” ได้ในสัปดาห์หน้า ยืนยันมีความพร้อมจัดหาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าตามสัญญาเพื่อความมั่นคงไฟฟ้า ด้าน ราช กรุ๊ป แจงค่าไฟถูกจึงได้รับสิทธิทำโรงไฟฟ้าหินกองทั้ง 2โรง รวม 1.4 พันเมกะวัตต์ ยันไม่เร่งรีบสรุปพันธมิตรร่วมทุน อ้างยังมีเวลากว่าโรงไฟฟ้าเสร็จปี 67 มั่นใจโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย เปิดจ่ายไฟ ธ.ค.นี้
นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า ปตท.จะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Gas Sales Agreement : GSA) กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS ได้ หลังจากทั้ง 2 บริษัทได้ยื่นเรื่องของซื้อก๊าซฯ กับ ปตท.เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ขณะนี้เอกสารต่างๆ ครบถ้วนแล้ว และอยู่ในกระบวนการพิจารณารายละเอียด
“โดยหลักการพิจารณาอนุมัติลงนาม GSA ให้กับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP นั้น จะพิจารณาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 บริษัทได้ยื่น PPA แนบเข้าแล้ว ถือว่าดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนก็ไม่น่าจะมีปัญหาติดขัดอะไร และ ปตท.เองก็มีความพร้อมที่จะป้อนก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ”
ในการลงนาม GSA ครั้งนี้จะเป็นการจัดหาก๊าซให้กับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสิทธิจากภาครัฐให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ภาคตะวันตก สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี ขนาดกำลังการผลิตรวม 1.4 พันเมกะวัตต์ คาดว่าปริมาณการใช้ก๊าซฯ สำหรับ 2 โรงไฟฟ้าดังกล่าว จะอยู่ที่ 220-240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อายุสัญญา 25 ปี เท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขณะที่ราคาก๊าซฯจะเป็นไปตามข้อกำหนดและการกำกับดูแลของคณะกรรมการกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
ส่วนการลงนาม GSA กับ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ NPS จะเป็นการจัดหาก๊าซป้อนให้กับ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา ขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ หลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นก๊าซธรรมชาติ ตามการเจรจาเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศของคณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สำหรับปริมาณก๊าซที่ป้อนให้โรงไฟฟ้าดังกล่าว จะอยู่ที่ไม่เกิน 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อายุสัญญาราว 25 ปี ตามสัญญาPPA
ด้านนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) กล่าวถึงความคืบหน้าการหาพันธมิตรร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหินกองว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่เร่งรัดตัดสินใจ เนื่องจากโรงไฟฟ้าหินกองจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2567 ส่วนสาเหตุที่ต้องหาพันธมิตรร่วมทุนเพื่อมุ่งหวังSynergyร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัท โดย RATCH จะถือหุ้นใหญ่ในโรงไฟฟ้าดังกล่าว
นอกจากนี้ ยืนยันว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ได้เร่งรัดการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าหินกอง 1.4 พันเมกะวัตต์ เนื่องจากมีการเจรจาโครงการนี้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 62 โดย กบง.มอบหมายให้ กกพ.เป็นผู้ดำเนินการกว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก็ช่วงเดือน ก.ค. 62 ใช้เวลาถึง 7 เดือน และมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไม ราช กรุ๊ป ถึงได้สิทธิสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงแทนที่จะทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์จี้ เพียงโรงเดียว 700 เมกะวัตต์ ว่า ถ้าค่าไฟโรงไฟฟ้าหินกองไม่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟรวม ก็สามารถทำได้ ซึ่งกกพ.พิจารณาแล้วค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยมีค่าไฟต่ำกว่าค่าไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Gulf PD2.5 พันเมกะวัตต์) ประมาณ 0.0038 บาท/หน่วย โดยค่าเฉลี่ย 25 ปี อยู่ที่ 1.9930 บาท/หน่วย
“โรงไฟฟ้าใหม่ภาคใต้กว่าจะมีก็ต้องปี 2570 ช่วงนี้แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็แก้ปัญหาโดยใช้สายส่งเข้าไปช่วย แต่ถ้าสายส่งมีปัญหาก็ต้องนำไฟฟ้าจากภาคตะวันตกเข้าไปช่วยได้เร็วที่สุด คือในปี 2567 ทำให้บรรเทาปัญหาระบบไฟฟ้าให้ดีขึ้น โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง บริษัทดูผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ผลตอบแทนการลงทุนเหมาะสมก็รับได้”
ส่วนเชื้อเพลิงที่จะป้อนให้โรงไฟฟ้าดังกล่าว ตามนโยบายของประเทศสามารถทำแบบ Third Party ได้แต่บริษัทได้เจรจาซื้อก๊าซฯ จาก ปตท. 220-240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือราว 1.4-1.5 ล้านตัน/ปี โรงไฟฟ้าจะใช้เงินลงทุน 5 แสนเหรียญ/เมกะวัตต์ หรือรวม 2.17 หมื่นล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่ประสบปัญหาสันเขื่อนดินส่วน D แตก ว่าขณะนี้ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้วกว่า 80% บริษัทฯ มั่นใจว่าในเดือนธันวาคมนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ หลังจากเลื่อนการจ่ายไฟในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ราช กรุ๊ป ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด บริษัทย่อยที่ RATCH ถือหุ้นอยู่ทั้งจำนวนได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง 2 โรงรวม 1,400 เมกะวัตต์ ที่ จ.ราชบุรี กับ กฟผ. เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 อายุสัญญา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 และปี 2568 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)