xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ชง “ศักดิ์สยาม” ดัน “ฮับคาร์โก้” วาระแห่งชาติ-จ่อเซ็น “ดูไบ” ประตูการค้าเชื่อมยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ทอท.” คาดตั้งบริษัทร่วมทุนคาร์โก้สุวรรณภูมิใน 2 เดือน จับมือสภาหอฯ และการบินไทยเปิดเฟสแรก ดันรายได้คาร์โก้แตะพันล้าน เตรียมชง “ศักดิ์สยาม” ดันเป็นวาระแห่งชาติ เผยอาลีบาบาขอใช้พื้นที่ 2 แสนตร.ม.ปั้นฮับ E-Commerce ยึดดูไบประตูเชื่อมยุโรป

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าจัดตั้งบริษัทลูกดำเนินโครงการศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ที่สนามบินสุวรรณภูมิว่า ภายใน 2 เดือนนี้จะสามารถลงนามจอยต์เวนเจอร์จดทะเบียนร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งมีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 4 เดือนในการเตรียมพร้อมทั้งพื้นที่และด้านการตลาด และเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2562 หรืออย่างช้าต้นปี 2563

ในเฟสแรกจะเป็นแบบ B2B Marketing คือการทำการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ หรือระหว่างองค์กร โดยภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมจะมีสินค้าและเป็นผู้ให้บริการอยู่แล้ว สุวรรณภูมิจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง เพิ่มมูลค่าของสินค้าและอำนวยความสะดวกรวดเร็ว

นอกจากนี้ ในเฟสแรกจะมีรูปแบบ Premium Len หรือช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าที่มีมูลค่าที่ต้องการความรวดเร็ว คล้ายกับผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ เช่น กุหลาบสวยงามและราคาสูง ต่อไปไม่ต้องรอต่อคิวตามหลังข้าวหรือใบโหระพา มีช่องทางพิเศษไปก่อน และจะมีลูกค้าจากประเทศใน CLMV ที่จะมาใช้บริการที่สุวรรณภูมิในการส่งสินค้าไปยังยุโรป เพราะสะดวกและลดต้นทุน ไม่มีความเสี่ยงที่สินค้าจะถูกตีกลับ (Reject) เนื่องจากมีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากต้นทาง

“ช่วงแรกจะเป็นโครงการนำร่องเพื่อประเมินปริมาณสินค้าทั้งหมด และสินค้าที่ต้องการบริการช่องทางพิเศษ ซึ่งจะใช้พื้นที่ในคาร์โก้ไม่มาก เช่น พื้นที่สำหรับออฟฟิศ, ห้องเย็น, ห้องเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ประมาณ 1.5 ล้านตัน/ปี ทอท.มีรายได้จากการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก เช่าพื้นที่ warehouse ประมาณ 300-500 ล้านบาท คาดว่าเมื่อเปิดบริการศูนย์ตรวจสอบสินค้าฯ รายได้จะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะต่อไป”

อย่างไรก็ตาม โมเดลธุรกิจของศูนย์ตรวจสอบสินค้าฯ สุวรรณภูมิเป็น Regulator Free Zone คือ มีเป้าหมายเป็นศูนย์ตรวจสอบสินค้าทั้งขาออกและขาเข้า ซึ่งภายในเดือน ส.ค.นี้ ทอท.จะลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Sister Airport Agreement) กับดูไบ โดยมีเป้าหมายในการใช้ดูไบเป็นประตูการขนส่งสินค้าก่อนเข้าสู่ยุโรป ส่วนขากลับ เมื่อสินค้ายุโรปเข้ามา แม้จะไปปลายทางประเทศใน CLMV แต่เมื่อผ่านสุวรรณภูมิจะต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานก่อนเพื่อความสะดวก ซึ่งเมื่อรองรับตลาด E-Commerce ได้ ทำให้ทางกลุ่มอาลีบาบาแสดงความสนใจ และได้มาหารือกับ ทอท. โดยขะขอใช้พื้นที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตรที่สนามบินสุวรรณภูมิ


“ขณะนี้ทางอาลีบาบามีสนามบินลีแยฌ (เบลเยียม) เป็นตัวกลางเชื่อมยุโรป ทางแฟรงก์เฟิร์ต มิวนิก อังกฤษ อัมสเตอร์ดัม และใช้สนามบินดูไบเป็นศูนย์เชื่อมด้านตะวันออกกลาง”


นายนิตินัยกล่าวว่า การจะไปสู่ศูนย์ตรวจสอบสินค้าฯ เต็มรูปแบบจะต้องมีความร่วมมือแบบจีทูจี ซึ่งได้นำเสนอ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ช่วยผลักดัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคต บริษัทร่วมทุนฯ ดังกล่าวจะขยายการให้บริการและขยายพื้นที่เพิ่มเติม รูปแบบการบริหารคลังสินค้าจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน และรองรับ เมื่อสัญญาสัมปทานโครงการคลังสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการบินไทย และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด (WFS - PG CARGO., Ltd : WFSPG) สิ้นสุดลงประมาณปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น