ผู้จัดการรายวัน 360 - กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ปรับโครงสร้างใหญ่ บริหารจัดการแบบ “พญาไท เมดิคอล แคมปัส” พร้อมลงทุนครั้งใหญ่นับพันล้านบาท รอบ 43 ปี เพิ่มอาคารขนาด 17 ชั้น รองรับผู้ป่วยนอก ต่างชาติ และศูนย์โรคหลอดเลือดสมองครบวงจรและประสาทวิทยา พร้อมให้บริการปี 65 เชื่อดันพญาไท 1 กลับมาโตได้ 2 หลัก จากรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพญาไท 1 เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท และเปาโล หลังจากเน้นการลงทุนใหญ่มา 3-4 ปี หลังจากนี้จะมุ่งปรับโครงสร้างใหญ่ บริหารจัดการแบบ “พญาไท เมดิคอล แคมปัส” หรือ PMC ชูเรื่องนวัตกรรมศูนย์การรักษาของแต่ละโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลพญาไท 1 จะเป็นผู้นำศูนย์สมองและประสาทวิทยา, ผู้สูงอายุ และมะเร็ง ส่วนโรงพยาบาลพญาไท 2 เป็นผู้นำศูนย์การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับเด็ก ส่งนโรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน เป็นผู้นำศูนย์การรักษาด้านศัลยกรรม, กระดูกและข้อ เป็นต้น
“การปรับโครงสร้างบริหารจัดการแบบ PMC ปี 2562 นี้ อยู่ระหว่างเคลียร์คอนเซ็ปต์ ปีหน้ามุ่งบริหารจัดการแบบไฮบริด และปีต่อไปจะเริ่มดำเนินการได้ หรือน่าจะทำได้ใน 3 ปีจากนี้ และการมองเรื่องรายได้ จะแยกเป็นการเติบโตของศูนย์การรักษาในทุกสาขารวมกัน”
สำหรับการดำเนินงานของโรงพยาบาลพญาไท 1 ล่าสุดได้งบจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ หลักพันกว่าล้านบาท สำหรับสร้างอาคารใหม่ ขนาด 17 ชั้น ให้เป็นศูนย์การรักษาด้านอายุรศาสตร์ประสาทวิทยาครบวงจรที่มีมาตรฐานระดับโลก ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเป็นศูนย์โรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร สู่การเป็น State of the Art of Neurology หรือศูนย์การรักษาโรคทางด้านสมองและประสาทวิทยาที่มีคุณภาพระดับโลก คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3 ปี หลังเปิดให้บริการคาดว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้เป็นเท่าตัว และเพิ่มจำนวนเตียงจาก 220 เตียง เป็น 350 เตียง พร้อมทำให้รายได้รวมมีโอกาสกลับมาเติบโต 2 หลัก จากรายได้ปัจจุบันอยู่ในหลัก 3,000 กว่าล้านบาท ช่วง 2-3 ปี เติบโต 1 หลัก
อย่างไรก็ตาม ตลาดรวมธุรกิจเฮลท์แคร์ คาดว่ามีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท เฉพาะกลุ่ม PMC มีรายได้รวมกันกว่า 80,000 ล้านบาท หรือเกือบ 50% ของมูลค่ารวม อนาคตธุรกิจเฮลท์แคร์ยังมีอัตราการเติบโตสูง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะต้องมีการเข้ารักษาพยาบาล รวมถึงการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติที่หันมารักษาในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวกัมพูชาเลือกไทยเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยเวียดนาม และสิงคโปร์ ตามลำดับ
ดร.นพ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการดำเนินงานปี 2562 นี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อยกระดับสู่การเป็นโรงพยาบาลที่ผู้รับบริการให้ความไว้วางใจสูงที่สุดภายในปี 2564 โดยให้ความสำคัญกับศักยภาพโรงพยาบาลในเรื่อง คุณภาพการรักษาที่ดี ความปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง ผ่านระบบการบริหารแบบ Strategic Business Unit
อีกทั้งยังพัฒนาระบบการดูแลคนไข้ผู้สูงอายุ และจัดทำคู่มือการดูแลผู้สูงอายุ จัดตั้ง Acute stroke unit เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง การทำ Mobile stroke unit สามารถตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และให้การรักษาในรถฉุกเฉินได้ตั้งแต่หน้าบ้านผู้ป่วย และระบบการดูแลผู้ป่วย 24 ชม. ตลอดจนแนวทางการดูแลผู้ป่วย stroke ที่เป็นสากล
การพัฒนาพื้นที่ International Zone เป็นแนวคิดในการพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาเพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ การรักษาโรคกลุ่มที่มีความซับซ้อน และโรคเฉพาะทาง โดยใช้เวลาปรับปรุงโครงสร้างอาคาร พื้นที่และสิ่งแวดล้อมประมาณ 3 ปี ขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการเต็มประสิทธิภาพ ตามแผนปี 62-63 รุกขยายลูกค้าต่างชาติใหม่ๆ เพิ่มเติม
ปัจจุบัน โรงพยาบาลพญาไท 1 มีสัดส่วนลูกค้าไทย 65% ต่างชาติ 35% โดย 80% ของลูกค้าต่างชาติ มาจากกัมพูชา รองลงมา คือ พม่า อาเซียน ยุโรป อเมริกา และจีน ซึ่งในปี 2561 ลูกค้าต่างชาติโต 8.6% ปี 62 คาดโต 10% ขณะที่ปัจจุบันโรงพยาบาลมี 3 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ 220 เตียง ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกความจุของ 1,500 รายต่อวัน เฉลี่ยมีผู้ป่วย 40,000 รายต่อเดือน พร้อมศูนย์ทางการแพทย์จำนวน 26 ศูนย์