“สุริยะ” แย้ม 4 บริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนเตรียมย้ายฐานการลงทุนมาไทยหลังสงครามการค้าพ่นพิษ ทั้งกาสิโอ ไซหลุนไทล์ ซิติ้เชน วอช และริโค่ สั่ง สศอ.เร่งศึกษาแผนดึงลงทุน พร้อมเล็งถกประธานเจโทรโชว์ศักยภาพไทยฐานลงทุน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากภาวะสงครามทางการค้าที่เกิดขึ้นขณะนี้มีแนวโน้มที่บริษัทจากญี่ปุ่นที่ไปลงทุนยังประเทศจีนกำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นแทน โดยเป้าหมายหนึ่งคือประเทศไทย เบื้องต้นทางนิตยสารนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ได้มีการรายงานถึงแนวโน้มบริษัทรายใหญ่ที่ลงทุนจีนจะย้ายฐานมาไทย 4 ราย ได้แก่ บริษัทคาสิโอ ไซหลุนไทล์ ซิติ้เชน วอช และริโค่ (Ricoh) ดังนั้นเพื่อให้เกิดการดึงการลงทุนจึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนเพื่อหามาตรการที่จะดึงดูดการลงทุนมากขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
“ภายในเดือน ก.ค.นี้ นายฮิโระกิ มิตสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ หรือเจโทร ได้ทำหนังสือขอเข้าพบ โดยประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะหารือคือการชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นทั้งโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นเอง และนักลงทุนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนต่างประเทศแล้วประสบปัญหาสงครามการค้ากำลังเตรียมแผนย้ายออกให้มาลงทุนยังไทยมากขึ้น” นายสุริยะกล่าว
นอกจากนี้ จะนัดหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อที่จะหารือถึงแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมและอุปสรรคการลงทุน ทั้งนี้ มั่นใจว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพของทั้งนักลงทุนไทยที่ประกอบกิจการอยู่แล้วและนักลงทุนใหม่ๆ เนื่องจากมีสิทธิประโยชน์การลงทุนที่ดี ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม และสำคัญคือการเมืองที่มีความชัดเจน
นายสุริยะยังกล่าวถึงกรณีภัยแล้งว่า ได้มอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จัดหาแหล่งน้ำจากขุมเหมืองทั่วประเทศสำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยให้ประสานกับผู้ประกอบการเหมืองแร่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่ประชาชน ส่วนน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วและปิดกิจการไปแล้ว ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำจากขุมเหมืองไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีพื้นที่ประทานบัตรที่มีศักยภาพสามารถนำน้ำมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งไม่น้อยกว่า 200 แปลง มีปริมาตรน้ำไม่น้อยกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ไปสำรวจและประสานกับผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าของพื้นที่หาแนวทางนำน้ำในขุมเหมืองมาใช้แก้ปัญหาภัยแล้งให้เป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมาในบางพื้นที่มีการนำน้ำจากขุมเหมืองที่ผ่านการทำเหมืองแร่แล้วไปใช้เพื่อการอุปโภค แหล่งประมง และการทำเกษตรกรรมแล้วในหลายพื้นที่ เช่น ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาสานนท์ จำกัด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ขุมเหมืองของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ขุมเหมืองของบริษัท ศิลาน้ำยืน จำกัด ที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ขุมเหมืองของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่หินชุมแพรุ่งเรือง อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น และขุมเหมืองของบริษัท พิพัฒน์กร จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดตาก เป็นต้น