xs
xsm
sm
md
lg

มิติใหม่ไฮสปีดไทย กับการใช้มืออาชีพระดับโลก “เอฟเอส” เวิลด์คลาสจากแดนมักกะโรนี ของดีที่ซีพีควงมาไทย!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

รูปภาพจาก : https://www.europebyrail.eu/italy-frecciarossa-network-expands/
นับจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงทุนกับกลุ่มกิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 ก.ม. โดยเตรียมลงนามในสัญญาเร็ว ๆ นี้ หลายฝ่ายตั้งตารอดูความชัดเจนของแผนงานที่กำลังจะเกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การเลือกมืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการงานรถไฟความเร็วสูง ด้วยซีพีมีชื่อเสียงในเรื่องของการเลือกใช้คนเก่งและมือดีจากทั่วโลก ซึ่งก็ปรากฎชื่อ บริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.) หรือ FS เป็นหนึ่งในพันธมิตรสายแข็งของกลุ่มซีพี

อิตาลี เป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างรวดเร็ว และจุดเด่นของรถไฟอิตาลี คือ ระบบที่มีมาตรฐานและการควบคุมที่เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป โดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงของอิตาลี จะเชื่อมเมืองต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี (Ferrovie dello Stato Italiane S.p.A.)หรือ FS มีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของอิตาลีถือหุ้น 100% มีบริษัทลูกกว่า 90 แห่ง ทำธุรกิจครอบคลุมเบ็ดเสร็จ 4 ด้าน คือ 1.การขนส่ง 2.โครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ 4.การให้บริการอื่น ๆ โดยเชื่อมเส้นทางทั่วยุโรป ผ่านเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงระยะทางกว่า 16,700 ก.ม. ที่มี FS เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ลงทุนขบวนรถ ระบบบริหารจัดการและศูนย์ซ่อม เป็นบริษัทที่บริหารรถไฟให้บริการแบบครบวงจร ที่ให้ทางเลือกในการเดินทางทั้งระบบรางและถนน

เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในอิตาลีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันมียูโรสตาร์อิตาเลีย (Eurostar Italia: ESI) เป็นรถไฟความเร็วสูงที่ทันสมัยและหรูหราที่สุด มีขบวนรถรุ่น Frecciarossa วิ่งเร็วที่สุดที่ความเร็ว 360 ก.ม./ช.ม. เชื่อมเมืองเข้าด้วยกัน ขบวนที่เร็วที่สุดวิ่งจากมิลานถึงโรมระยะทาง 580 ก.ม. ใช้เวลาเดินทางเพียง 3 ช.ม. ซึ่งจากการเปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2012 มีจำนวนผู้โดยสารกว่า 100 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 750 ล้านคนต่อปี โดยเน้นการให้บริการความเร็วสูงและระยะทางไกล (หรือผ่านระบบ Frecciargento, Frecciabianca) และบริการภายในเมืองที่ความเร็วปานกลางวิ่งบนรางธรรมดา
รูปภาพจาก : https://www.fsitaliane.it
ขณะที่ขบวนรถรุ่น Frecclargento วิ่งเร็ว 250 ก.ม.ต่อ ช.ม. เชื่อมกรุงโรมสู่เวนิช-เวโรนา ในเส้นทางสายเหนือ และโรมสู่ Bari/Lacce-Lamezia ในเส้นทางมุ่งลงสู่ใต้ ส่วนขบวนรถรุ่น Frecclabianca วิ่งด้วยความเร็ว 200 ก.ม./ช.ม. และ La Frecce เป็นรถไฟที่วิ่งออกจากโรมตรงสู่เมืองต่าง ๆ ที่ไม่ไกลมากนัก นอกจากนี้ ยังมีรถไฟระหว่างเมือง (Intercity: IC) เป็นรถไฟวิ่งเชื่อมเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกัน นอกจากเส้นทางสายหลักที่รถไฟยูโรสตาร์อิตาเลียวิ่งอยู่ หรือบางครั้งอาจวิ่งทับเส้นทางกัน แต่ใช้รางแยกกันและจอดตามสถานีรายทางในเมืองเล็ก ๆ ด้วย

อิตาลียังมีรถไฟระหว่างประเทศ (International Trains) ที่วิ่งจากเมืองต่าง ๆ ในอิตาลี สู่เมืองอื่นของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป คือ รถไฟ Cisalpino มีเส้นทางที่วิ่งจากฟลอเรนซ์-โบโลญญา-เจนัว/มิลาน สู่เจนีวา-บาเซิล-เบิร์น-ซูริก และลูเซิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์, สตุตการ์ตในเยอรมนี ขณะเดียวกันรถไฟของประเทศอื่นก็วิ่งเข้ามาในอิตาลีด้วย เช่น รถไฟ “เตเฌเว” ของฝรั่งเศส ที่วิ่งระหว่างมิลาน-ปารีส

ภาพการเชื่อมเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูง ที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะสร้างเมืองในแต่ละพื้นที่และเจริญเติบโตไปด้วยกัน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินรถ แต่เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่มีอยู่ สามารถผนึกกำลังจากพันธมิตรที่มีศักยภาพด้านต่าง ๆ ร่วมมือกันดำเนินโครงการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติและทุกภาคส่วน

ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน แล้วจะกระทบต่อแรงงานไทยนั้น ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง หลายอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ทั้งญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ที่ช่วงแรกของการลงทุน ย่อมต้องโยกย้ายบุคลากรมืออาชีพและทีมงานเข้ามาบุกเบิกและดำเนินงานในระยะเริ่มต้น แต่หลังจากเข้าที่เข้าทางแล้ว ทักษะความรู้ต่าง ๆ จะถูกถ่ายโอนให้กับคนไทย ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และพร้อมปรับตัวให้ก้าวทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงหลายเท่า

----------------------------

Credit: X-Ray


กำลังโหลดความคิดเห็น