“สนธิรัตน์” เผยรัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลัง คาดชัดเจนหลังแถลงนโยบายฯ ขณะที่ขึ้นค่าแรง 400 บาทเป็นเป้าหมายระยะ 4 ปี ไม่รีบร้อนปรับขึ้นค่าแรง ยังต้องหารือร่วมไตรภาคีก่อน ด้าน ปตท.เผย 3 ปีนี้กลุ่มปิโตรเลียมขั้นปลายมีแผนลงทุนรวม 3 แสนล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะต้องเร่งหารือเพื่อกำหนดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้ คาดว่าหลังจากแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภาฯ แล้วจะสามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ในส่วนของกระทรวงพลังงาน จะเตรียมการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ ซึ่งพลังงานเป็นเรื่องสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยในช่วงนี้จะต้องดูแลราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้าด้วย
นายสนธิรัตน์ยังชี้แจงถึงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายระดับทั้งคณะกรรมการไตรภาคี และผู้ประกอบการให้ตกผนึกร่วมกันก่อนเพื่อไม่ให้เป็นภาระฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยผู้ประกอบการและแรงงานอย่าเพิ่งวิตกกังวลไปยังมีเวลาที่จะหารือแนวทางร่วมกัน อีกทั้งการปรับขึ้นเป็น 400 บาทยังไม่ได้เริ่มช่วงต้นปี 2563 แต่เป็นเป้าหมายระยะยาว 4 ปี และต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็ง นำระบบดิจิทัลมาใช้ พร้อมยกระดับการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานด้วย
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือพีทีที และประธานกรรมการ บริษัท น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีโออาร์ กล่าวว่า ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย (ดาวสตรีม) กลุ่ม ปตท.มีแผนการลงทุนในโครงการที่มีความชัดเจนแล้ว มูลค่ารวมประมาณ 3 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปี โดยปีนี้จะทยอยใช้เงินลงทุนราวปีละ 1 แสนล้านบาท โดยโครงการที่ผ่านการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายแล้ว ได้แก่ โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน และโครงการมาบตาพุด เรโทฟิต ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพการผลิตของโรงงานที่มาบตาพุด โดยจะเป็นการลงทุนที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ขณะที่มาร์จิ้นจะเพิ่มขึ้น
“ปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนร่วมกันให้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการรับมือกับความผันผวนของราคาน้ำมันและผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผ่านมายังราคาปิโตรเคมี และมาร์จิ้นของธุรกิจขั้นปลาย” นายอรรถพลกล่าว
ส่วนโครงการ Maximum Aromatics (MARS) เพื่อขยายกำลังผลิตอะโรเมติกส์ โดยจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพาราไซลีน และผลิตเบนซินเพิ่มขึ้น ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือไออาร์พีซี ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันกับ ปตท. โดยยังไม่มีการล้มโครงการแต่อย่างใด