xs
xsm
sm
md
lg

เซ็น ซี.พี.แน่ ก.ค.นี้! รฟท.เคลียร์ทาง “รื้อย้าย-เวนคืน-ชดเชยบุกรุก” มอบ 4.3 พันไร่ สร้างไฮสปีด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟท.สรุปใช้พื้นที่ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จำนวน 4,300 ไร่ พร้อมส่งมอบให้ซีพีช่วงแรก 3,151 ไร่ หรือประมาณ 80% ตั้งธง เคลียร์ผู้บุกรุกใน 2 ปี ส่วนสัญญาเช่ายกเลิกใน 1 ปี นัดซีพีถกแผนก่อสร้าง สัปดาห์หน้าเร่งเซ็นสัญญา ก.ค.แน่นอน

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. นั้น ข้อมูลค่อนข้างจะถูกต้องตรงกันแล้ว โดยรฟท.จะให้ที่ปรึกษารวบรวมข้อมูลเรื่องการส่งมอบพื้นที่ และจัดส่งให้ข้อมูลทาง ซีพี ได้ในวันจันทร์ที่ 15 ก.ค.เพื่อให้ทางซีพีนำข้อมูลไปประกอบกับแผนการก่อสร้าง จากนั้น จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. หากไม่มีประเด็นเพิ่มเติม จะนัดลงนามสัญญากับกลุ่มซีพี ซึ่งจะเป็นภายในเดือนก.ค.นี้แน่นอน

สำหรับพื้นที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดกว่า 4,300 ไร่ เป็นพื้นที่รถไฟ จำนวน 3,571 ไร่ พื้นที่เวนคืน 850 ไร่ ( มีจำนวน 42 แปลง จะใช้เวลาส่งมอบ 2 ปี นับจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งขณะนี้ พ.ร.ฎ.อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา)

โดยพื้นที่ของรฟท.จำนวน 3,571 ไร่ นั้น พร้อมส่งมอบในช่วงแรกจำนวน 3,151 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80%

ส่วนที่เหลือแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.เป็นพื้นที่ถูกบุกรุกจำนวน 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย ซึ่งรฟท.วางแผนที่จะเคลียร์ ผู้บุกรุกให้เรียบร้อยภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญา โดยรฟท.ตั้งงบประมาณ 200 ล้านบาทสำหรับเป็นค่าชดเชยและแผนดำเนินการ

2.พื้นที่ติดสัญญาเช่า จำนวน 210 ไร่ จำนวน 83 สัญญา รฟท.จะดำเนินการให้เรียบร้อยภายใน 1 ปีนับจากลงนามสัญญา โดยหากสัญญาใดยังไม่ครบกำหนดภายใน 1 ปี รฟท.จะทำการแจ้งยกเลิกสัญญากับผู้เช่าใน 1 ปี

สำหรับมักกะสัน มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 142.26 ไร่ ช่วงแรกสามารถส่งมอบให้ซีพีได้ จำนวน 132.95 ไร่ ส่วนที่เหลือประมาณ 9.31 ไร่ ยังส่งมอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่พวงราง ซึ่งทางซีพี ต้องดำเนินการย้ายพวงรางออกไปก่อน จึงจะเข้าใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งมีค่าดำเนินการประมาณ 300 ล้านบาท โดยได้ตั้งไว้ในวงเงินโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินอยู่แล้ว

ส่วนสถานีศรีราช จำนวน 27.45 ไร่ โดยซีพีจะต้องก่อสร้างแฟลตบ้านพักรถไฟ ทดแทนให้ก่อน ที่บริเวณฝั่งตรงข้าม เป็นอาคาร 3 หลัง เพื่อย้ายบ้านพักพนักงานออกไปก่อน จึงจะเข้าพื้นที่ได้

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ซึ่งซีพี จะต้องไปตรวจสอบ ว่าจุดใดบ้างที่กีดขวางการก่อสร้าง โดย รฟท.จะประสานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ ท่อน้ำมัน,ประปา,สายไฟฟ้าแรงสูง เพราะบางจุด จะรื้อย้ายออกไปไม่ได้ ต้องปรับเป็นหลบ หรือจัดการอย่างไรไม่ให้กีดขวางการก่อสร้าง จึงต้องดูแผนก่อสร้างของซีพี



กำลังโหลดความคิดเห็น