รฟม.เริ่มวางคานทางวิ่ง เร่งสปีดรถไฟฟ้าโมโนเรลสีชมพู “แคราย-มีนบุรี” หล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ติดตั้งจุดแรกถนนติวานนท์ เผยก่อสร้างคืบ 32.9% เหตุยังล่าช้ากว่าแผน 5% โดยวางแผนปิดถนนฝั่งละ 1 ช่องชิดเกาะกลาง ตั้งแต่ 17 ก.ค.นี้
วันนี้ (11 กรกฎาคม 2562) เวลา 09.30 น. นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะผู้บริหาร รฟม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.ภูบาล ทับจันทร์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี และนายวิฑูรย์ สลิลอำไพ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมความก้าวหน้าการก่อสร้างและการติดตั้งคานทางวิ่ง Guideway Beam โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ณ บริเวณแยกสามัคคี ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟฟ้าในการพัฒนาตามแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการที่มีการออกแบบให้เป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2562 มีความก้าวหน้างานก่อสร้างรวม 32.9% (ประกอบด้วยงานโยธา 38.2% และงานวางระบบไฟฟ้าร้อยละ 26.9) โดยมีความล่าช้ากว่าแผน 5% โดยจะสามารถเปิดให้บริการได้ในเดือนต.ค. 2564 ตามแผน
ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างจากระดับฐานรากเข้าสู่ขั้นตอนของทางยกระดับในบางพื้นที่แล้ว โดยได้มีการติดตั้ง Guideway Beam ชิ้นแรกของประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ซึ่ง Guideway Beam เป็นคานทางวิ่งแบบหล่อสำเร็จขนาดใหญ่ แต่ละชิ้นมีความยาว 30 เมตร น้ำหนักประมาณ 80 ตัน ผลิตจากโรงผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อทำหน้าที่เป็นโครงสร้างทางวิ่งที่แข็งแรงสำหรับให้รถไฟฟ้าโมโนเรลวิ่งคร่อมอยู่ด้านบน ซึ่งการติดตั้งแต่ละครั้งจะต้องมีการขนย้ายเพื่อไปประกอบในจุดที่ต้องการติดตั้งตามขั้นตอน และการขนย้ายแต่ละครั้งจะมีรถเจ้าหน้าที่ตำรวจนำทาง พร้อมด้วยรถ Service และรถเปิดไฟให้สัญญาณปิดท้าย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการจราจรมากขึ้น เพราะเป็นการนำชิ้นส่วนวัสดุขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่เมืองในการก่อสร้างที่ผ่านมา รวมทั้งการติดตั้ง Guideway Beam
รฟม.ได้มีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่บุคลากรทุกระดับ และให้ความสำคัญต่อมาตรการความปลอดภัย Safety Plan ตามปฏิญญาว่าด้วยความปลอดภัย โดย รฟม. ผู้รับสัมปทาน และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วางแผนร่วมกันในการจัดการจราจรให้เกิดความปลอดภัยและให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด โดยมีการปิดเบี่ยงการจราจรชั่วคราวเพิ่มเติมอีก 1 ช่องทางทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก ช่วงเวลา 22.00-04.00 น. พร้อมจัดให้มีป้ายเตือน สัญญาณไฟส่องสว่างก่อนถึงจุดติดตั้งคานทางวิ่งประมาณ 300-500 เมตร และมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยควบคุมดูแลการจราจรและการปฏิบัติงานก่อนจุดที่มีการติดตั้งคานทางวิ่งทุกครั้ง
รวมทั้งมีการวางแนวทางการลดผลกระทบด้านจราจร ได้แก่ การดำเนินงานในช่วงที่การจราจรเบาบาง คือช่วงเวลา 22.00-04.00 น. ดำเนินการประชาสัมพันธ์พื้นที่ที่จะมีการติดตั้งคานทางวิ่งผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และหลีกเลี่ยงการสัญจรในช่วงเวลาที่พื้นที่มีการดำเนินงานพร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการจราจร เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นนทบุรี เพื่อร่วมกันบริหารจัดการจราจรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ การติดตั้ง Guideway Beam นับเป็นก้าวสำคัญของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพราะเป็นความก้าวหน้าจากการก่อสร้างระดับฐานรากสู่ขั้นตอนทางยกระดับ โดยตลอดสายทาง Guideway Beam จะเป็นคานทางวิ่งสายทาง (Elevated) จำนวน 2,686 ชิ้น และคานทางวิ่งสถานี (Station) 186 ชิ้น