xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอด ห้วยหลวงโมเดล กลยุทธ์ตรึงน้ำไว้ในแผ่นดินอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นโยบายเก็บน้ำไว้ในประเทศแทนการปล่อยลงทะเลหรือแม่น้ำโขงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นได้ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง วงเงิน 21,000 ล้านบาท


ลำห้วยหลวงมีต้นน้ำอยู่ จ.หนองบัวลำภู แต่ใช้ประโยชน์ใน จ.อุดรธานี ก่อนไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ปริมาณน้ำท่าไหลลงห้วยหลวงปีละกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงตอนบน ความจุ 130 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำเพียง 24% ส่วนห้วยหลวงตอนล่างมีแค่ประตูระบายน้ำลงแม่น้ำโขง สามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำได้เต็มที่ 60 ล้าน ลบ.ม. เพราะน้ำจะบ่าท่วมพื้นที่สองฝั่งได้


โดยสรุปปีหนึ่งๆ ห้วยหลวงทิ้งน้ำลงแม่น้ำโขงร่วม 1,000 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่เกิดมรรคผลใดต่อสองจังหวัดดังกล่าว นอกจากยังคงเผชิญปัญหาน้ำท่วมและขาดแคลนน้ำเหมือนเดิม


เป็นที่มาของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เริ่มต้นด้วยการสร้างประตูระบายน้ำห้วยหลวงตอนล่างก่อนตั้งแต่ปี 2539 แล้วโอนให้กรมชลประทานรับช่วงในปี 2546 แต่ ปตร.ดังกล่าวกลับเป็นต้นเหตุให้น้ำบ่าท่วมพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ไร่ จนต้องนับหนึ่งใหม่


เป็นที่มาของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างอย่างเป็นระบบ โดยปรับเปลี่ยนจากแนวคิดโครงการโขง-ชี-มูล เดิม ภายใต้การกำกับของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่จัดตั้งขึ้นในรัฐบาล คสช.
องค์ประกอบของโครงการ ประกอบด้วย


สถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำบ้านแดนเมือง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีคลองชักน้ำยาว 1,344 เมตร ลงแม่น้ำโขงโดยตรง มีอัตราสูบน้ำสูงสุด 150 ลบ.ม./วินาที คิดง่ายๆ สูบน้ำได้วันละ 12 ล้าน ลบ.ม. โดยบริหารจัดการน้ำควบคู่ไปกับ ปตร.ห้วยหลวงตอนล่างที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก


ก่อสร้างพนังกั้นน้ำใหม่และปรับปรุงพนังเก่าในลำน้ำห้วยหลวง รวมความยาว 47 กิโลเมตร โดยยกระดับหลังพนังกั้นน้ำให้สูงขึ้นเพื่อไม่ให้น้ำห้วยหลวงบ่าท่วมสองฝั่งเหมือนเดิม


ก่อสร้าง ปตร.ในลำน้ำห้วยหลวง 3 แห่ง และ ปตร.ในลำน้ำสาขาอีก 12 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำแบบขั้นบันได และก่อสร้างระบบส่งน้ำ 13 โครงข่าย โดยมี 18 สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า


“อย่างแรกเลย ลดพื้นที่น้ำท่วมในสองจังหวัดจาก 1 แสนไร่ลงเหลือครึ่งหนึ่ง อย่างที่สอง น้ำต้นทุนทั้งในลำห้วยหลวงและตามแก้มลิง รวม 250 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างที่สาม เพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่ 3 แสนไร่ และในฤดูแล้งส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 2.5 แสนไร่” ดร.สมกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.สรุปผลประโยชน์โครงการ


ระยะเวลาดำเนินโครงการเวลา 9 ปี (พ.ศ. 2561-2569) แต่เลขาธิการ สทนช.มีแนวคิดเร่งรัดโครงการให้เร็วขึ้น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเกษตรกรร่วมคิดวางโครงข่ายระบบส่งน้ำด้วย และให้กรมชลประทานปรับแผนให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 7 ปี (พ.ศ. 2561-2567) เพื่อใช้ประโยชน์เร็วขึ้น คุ้มทุนไวขึ้น


ที่สำคัญ โครงการห้วยหลวงสามารถต่อยอดได้อีก โดยสูบน้ำในฤดูฝนที่มีมากข้ามสันปันน้ำไปลงหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่น้ำลำปาว ช่วยให้ลุ่มน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียงมีน้ำสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือไม่ก็ผันลงเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยผ่านอุโมงค์ภูเขา ซึ่งกรมชลประทานจะต้องเร่งรัดการศึกษาสำรวจและออกแบบให้เร็วขึ้น


“แทนที่จะสูบน้ำทิ้งแม่น้ำโขงด้วยอัตรา 150 ลบ.ม./วินาที หรือวันละ 12 ล้าน ลบ.ม. เราก็สูบน้ำจากห้วยหลวงไปเติมหนองหาน กุมภวาปี หรือเขื่อนอุบลรัตน์แทน เท่ากับเก็บน้ำไว้ในแผ่นดินอีสานแทนปล่อยทิ้งแม่น้ำโขงเหมือนที่ผ่านมา” ดร.สมเกียรติย้ำ


เป็น ห้วยหลวงโมเดล ที่พื้นที่อีสานอื่นที่มีลำน้ำไหลลงแม่น้ำโขงได้นำไปเป็นแม่แบบในการตรึงน้ำไว้ในประเทศ เพื่อสร้างแผ่นดินอีสานกลายเป็นอีสานเขียวได้บริบูรณ์ยิ่งกว่ายุคสมัยใด และเป็นการบูรณาการน้ำอย่างเป็นเอกภาพและเป็นระบบ เห็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น