ปตท.วางเป้าหมายมีกำไรจากการดำเนินงานเติบโตขึ้นทุกปีตลอดช่วง 5-10 ปีข้างหน้า หลังมีการขยายการลงทุนทุกธุรกิจเพื่อรักษาระดับกำไรเฉลี่ยอยู่ในช่วง 80,000-100,000 ล้านบาท
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.วางเป้าหมายกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างยั่งยืนเฉลี่ยในทุกๆ ปี ตามการขยายลงทุนของกลุ่ม ปตท. รวมถึงการมุ่งเน้นสร้างผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีมาร์จิ้นดีกว่าสินค้าเกรดปกติ ช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาและส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมีที่มีความผันผวนตามสภาวะตลาด
รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการและขยายงานของธุรกิจในกลุ่มให้สอดรับกับความต้องการของตลาดและทิศทางของอุตสาหกรรมในอนาคต ตลอดจนการขยายการลงทุนในต่างประเทศ
ที่ผ่านมา ปตท.ไม่เคยประสบปัญหาขาดทุนเพราะว่ามีธุรกิจหลายด้าน แต่อาจมีกำไรที่ผันผวน เช่น ในปี 2558 มีกำไรสุทธิต่ำสุดราว 2 หมื่นล้านบาท และทำกำไรสุทธิสูงสุดที่ระดับ 1.35 แสนล้านบาทเมื่อปี 60 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะของตลาดโลก ซึ่งมาจากเรื่องของราคาและสเปรดผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การที่จะรักษาระดับกำไรให้อยู่ระดับ 80,000-100,000 ล้านบาท จะต้องบริหารจัดการและขยายการลงทุนให้มีความเหมาะสม
ในส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในอนาคตจะมีการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ ปตท.ต้องปรับตัวเพื่อหารายได้อย่างอื่นมาเสริมนอกจากการขายก๊าซฯ เพียงอย่างเดียว โดยพิจารณาขายในรูปแบบโซลูชันให้ครอบคลุมมากขึ้น ด้านธุรกิจน้ำมัน ซึ่งนำโดย บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ก็จะรุกขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยล่าสุดจะเข้าไปร่วมทุนธุรกิจคลังและค้าส่งปิโตรเลียม และธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในพม่า
ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ในส่วนของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ก็มองเรื่องการขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ที่อาจจะส่งผลต่อนโยบายการบริหารประเทศหรือไม่อย่างไร ขณะเดียวกัน PTTGC ก็ยังมองโอกาสการลงทุนมากขึ้นในส่วนของการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA แต่จะต้องพิจารณาทั้งในด้านของวัตถุดิบ, การตลาด และคู่แข่งด้วย
ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ทาง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ก็มีการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทั้งมาเลเซียและพม่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนการลงทุนในอินโดนีเซียใหม่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังจากที่เคยเกิดกรณีการฟ้องร้องคดีน้ำมันรั่วไหลแหล่งมอนทาราก่อนที่จะมีการถอนเรื่องออกไป
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องการที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ของโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตก 2 โรง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลให้สิทธิ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ได้ดำเนินการนั้นยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากผู้พัฒนาโรงไฟฟ้ายังไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท.นั้น นายชาญศิลป์ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ ปตท. เพียงแต่การลงนามใดๆ คงต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลจะต้องมีข้อสรุปให้เรียบร้อยก่อน ในส่วนของ ปตท.ก็พร้อมที่จะขายก๊าซฯ ให้อย่างแน่นอน เพราะมีระบบท่อก๊าซฯ เชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกกับตะวันตกสามารถส่งก๊าซฯ มายังโรงไฟฟ้าได้อยู่แล้ว