xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.ไฟเขียวต่อ “ชมพู”-เบรกยืด “สีเหลือง” เหตุกระทบสัมปทาน BEM

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


บอร์ด รฟม.เบรกรถไฟฟ้าสีเหลืองส่วนต่อขยายเชื่อมสีเขียว (รัชโยธิน) สั่งเคลียร์ปัญหาหลัง BEM ร้องกระทบสัมปทานสีน้ำเงิน รฟม.เตรียมถก 3 ฝ่ายหามาตรการเยียวยา ขณะที่เห็นชอบสีชมพูต่อขยาย เสนอกก.มาตรา 43 ก่อนเสนอ ครม.ตามขั้นตอน

นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ได้มีมติเห็นชอบผลการเจรจาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. จำนวน 2 สถานี โดยให้ รฟม.เสนอคณะกรรมการกำกับโครงการฯ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) บอร์ดยังไม่อนุมัติในครั้งนี้ เนื่องจากยังต้องทำความชัดเจนในบางเรื่อง ให้ รฟม.เร่งดำเนินการ

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า บอร์ด รฟม.เห็นชอบส่วนต่อขยายสายสีชมพู จากสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี กับบริษัทนอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM แล้ว โดยขั้นตอนจากนี้นำเสนอคณะกรรมการ มาตรา 43 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 คาดว่าจะประชุมกลางเดือน ก.ค.นี้ หากเห็นชอบ เสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติต่อไป

ในทางคู่ขนาน จะต้องเร่งดำเนินการออกแบบรายละเอียดส่วนต่อขยาย และทำการศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นตามขั้นตอน ก่อนเสนอขออนุมัติ EIA เนื่องจากจะลงนามสัญญาได้ก็ต่อเมื่อ EIA ได้รับอนุมัติแล้ว ซึ่งคาดว่าส่วนต่อขยายจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการหลังเส้นทางหลักประมาณ 2 ปี

***ต่อสีเหลืองเชื่อมสายสีเขียว (รัชโยธิน) ติดปม กระทบสัมปทาน BEM

สำหรับสายสีเหลืองส่วนต่อขยายจากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. จำนวน 2 สถานี บอร์ดให้ รฟม.กลับไปทบทวน เนื่องจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ (BEM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้มีหนังสือท้วงติงกรณีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากจุดสิ้นสุดเดิมอยู่ที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว ซึ่งออกแบบเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน การขยายแนวเส้นทางไปถึงแยกรัชโยธิน และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอาจส่งผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานของ BEM เนื่องจากจะส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสารและรายได้ของบริษัทฯ

รฟม.จะเร่งประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ รฟม., บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง และบริษัท BEM เพื่อหาแนวทางและมาตรการเยียวยาให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน คาดว่าจะสรุปให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ จากนั้นให้เสนอที่ประชุมบอร์ด รฟม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง

“เดิมสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าวจะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินกับสายสีเหลือง การต่อขยายสีเหลืองมาที่แยกรัชโยธินสามารถเชื่อมกับสีเขียวที่ได้ผู้โดยสารบางส่วน อาจจะไปเปลี่ยนถ่ายที่สีเขียวแทน ซึ่งจะกระทบต่อสัญญาของ BEM”

เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทเป็นคู่สัญญาของ รฟม. ดังนั้น รฟม.ต้องแก้ปัญหา หลักการคือ BEM ต้องพิสูจน์ว่า ได้รับผลกระทบจากการต่อขยาย เช่น ผู้โดยสารลดลงหรือไม่ เป็นไปตามสัญญาอย่างไร ถึงจะได้รับการชดเชยเยียวยา ซึ่งเป็นการคาดการณ์ เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น การเจรจาเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้อง รฟม.ในอนาคตไว้ก่อน ซี่งจะต้องคุยกับ บ.EBM ผู้รับสัมปทานสายสีเหลืองเพื่อตกลงร่วมกัน ทั้ง 3 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าที่สมบูรณ์เป็นโครงข่ายจะทำให้ผู้โดยสารสะดวก และเพิ่มปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบ และจะเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ประกอบการด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น