ถึงเวลาแล้วที่ไทยจะกลายเป็นสมาร์ทซิตี้ ทำเมืองให้สะอาดตา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนาม MOU ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช. ในการร่วมมือกันนำสายเคเบิลสื่อสารลงใต้ดินทั่ว กทม. โดยทาง กทม.ได้มอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม.เอง เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างวางท่อร้อยสายใต้ดินทั่วกรุงเทพฯ ความยาวรวม 2,450 กิโลเมตร มูลค่าโครงการประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยจะต้องให้แล้วเสร็จใน 2 ปี หรือภายในปี 2564
ในขณะที่การประกวดราคา เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศ กทม. “เรื่องการปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535” ที่ประกาศในวันที่ 11 มิ.ย. 2562 โดยใจความสำคัญระบุว่า การวางสายเคเบิลไว้บนเสาไฟฟ้าต่อไปจะถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และถ้าหากในพื้นที่ใดที่มีท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินแล้ว การจะนำสายเคเบิลไปแขวนไว้กับเสาไฟฟ้าย่อมไม่มีเหตุจำเป็นอีกและผิดกฎหมาย
โครงการนี้ดูแล้วก็เป็นโครงการที่ดี แต่ทำไมถึงมีผู้มาประมูลเพียงรายเดียว?
คำตอบง่ายๆ คือ เป็นการลงทุนสูง กำไรไม่มาก เพราะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ 13 รายที่รับซองประกวดราคาเงียบหายเข้ากลีบเมฆ เหลือคนมายื่นเพียงรายเดียว คือ ทรู อินเตอร์เน็ท คอร์ปอเรชั่น
อย่างไรก็ตาม งานนี้กลับมีคนออกมาเคาะระฆังตั้งแต่ยังไม่สรุปผล คือ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ที่ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า “การดำเนินการดังกล่าวที่ให้สิทธิบริษัทเดียวผูกขาดเป็นเวลา 30 ปี อาจซ้ำเติมปัญหาการผูกขาดในวงการโทรคมนาคมไทย”
ทำเอาทุกคนปาดเหงื่อและถามต่อว่า ก็เขาให้ยื่นซองทำไมเอกชน และรัฐวิสาหกิจที่รับซองไปสิบกว่าเจ้าจึงไม่มายื่นซองประกวดราคา?
ดูแล้วโครงการนี้คงไม่จบง่ายๆ และที่สำคัญต้องมีขั้นตอนการเจรจาอีกหลายยก ปัญหาที่หลายคนห่วงใยว่าจะมีคนผูกขาด คงไม่น่ากลัวเท่าคำถามที่ว่า โครงการนี้ทำไมจึงไม่มีใครเข้ามาร่วมประมูล หรือเป็นเพราะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้กำไรไม่มาก ลงทุนสูง หรือจะแนะนำว่า ถ้าเช่นนั้นเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจอย่ามาทำ ปล่อยให้โครงการนี้ล้มไป แล้วเมื่อไหร่ไทยจะเจริญ ดังนั้น นาทีนี้ควรจะมาร่วมเชิญชวนเอกชน และรัฐวิสาหกิจ ให้มาช่วยกันทำเพื่อประเทศ เพราะยังไงสายไฟก็ต้อลงดินสักวันหนึ่งอยู่ดี