กสอ.เผยคืบหน้าการศึกษากัญชาเพื่ออุตสาหกรรม ประสานพลังจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมผลิตสารสกัดกัญชา ยืนยันพร้อมสนับสนุนเครื่องมือหลังมีกฎหมายรองรับชัดเจน ขณะที่ความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ ITC 4.0 ปัจจุบันเปิดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 105 ศูนย์ ตั้งเป้าปี 64 มีผู้รับบริการ 5 หมื่นคน ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านบาท
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพกลุ่มกัญชาและสมุนไพรที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องว่า ล่าสุดที่ประชุมได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งได้มีการหารือแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพืชกัญชากลางทาง โดยบทบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนาพืชกัญชาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) กลุ่มวิสาหกิจ 2) SMEs ในส่วนนี้มีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเตรียมความพร้อมในเรื่องการผลิตสารสกัดกัญชา
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้มีองค์ความรู้ทั้งกระบวนการ จึงต้องขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเพื่อนำมาขับเคลื่อนการทำงานของคณะทำงาน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นหากสามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลที่ต้องการผลิตสารสกัดกัญชา ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาในด้านการสกัดสารกัญชาได้เพราะมีเครื่องมือ ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งอาจไม่มีเครื่องสกัด แต่ส่วนการปลูกนั้น เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ต้องกำกับดูแล หลังจากสกัดแล้วส่งสารสกัดให้กับหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบความบริสุทธิ์ของสารสกัดเป็นผู้ตรวจสอบอีกครั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย
“กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการดำเนินการสนับสนุนด้านการสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ เพราะมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย ในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial Transformation Center 4.0 : ITC 4.0) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ต้องรอการดำเนินการเรื่องกฎหมายให้มีความถูกต้อง ชัดเจนก่อน” นายจารุพันธุ์กล่าว
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ ITC 4.0 ว่า ปัจจุบันมีให้บริการจำนวน 105 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย ศูนย์ ITC 4.0 ส่วนกลาง 1 แห่ง ศูนย์ ITC 4.0 ส่วนภูมิภาค 12 แห่ง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ Mini ITC 4.0 จังหวัด โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง และเครือข่ายศูนย์ ITC ที่ให้บริการเฉพาะทาง เช่น ITC-SME ศูนย์บริการ SME 13 แห่ง โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย CoRE-ITC ศูนย์บริการด้านระบบอัตโนมัติ 1 แห่ง โดยสถาบันไทย-เยอรมัน Food-ITC ศูนย์บริการด้านอาหาร 1 แห่ง โดยสถาบันอาหาร Recycle-ITC ศูนย์บริการด้านการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ 1 แห่ง โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยแต่ละศูนย์ฯ จะประกอบด้วยแพลตฟอร์มบริการ 4 ส่วน ได้แก่
1) ITC Match ทำหน้าที่เชื่อมโยงสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากผู้นำอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกประเทศเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาองค์ความรู้กับผู้ประกอบการ
2) ITC Innovate ศูนย์สาธิตและฝึกอบรมร่วมภาครัฐและเอกชน ในการรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่าง Global Players และ SMEs
3) ITC Share แหล่งรวมบริการเครื่องมือ เครื่องจักร ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ
4) ITC Fund นโยบายสนับสนุนทางการเงินผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อมโยงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการศูนย์ ITC 4.0 จำนวนมากกว่า 15,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2,500 ล้านบาท และภายในปี พ.ศ. 2564 ทาง กสอ.มีเป้าหมายที่จะให้ผู้รับบริการเข้าถึงได้ง่าย ตั้งเป้าไว้ 50,000 ราย และคาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท