xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.จ่อให้เช่าที่ Community Zone ใน EECi ต่อยอดงานวิจัย สวทช.-มหาวิทยาลัยสู่เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปตท.เตรียมออก TOR พื้นที่ Community Zone ใน EECi ราว 100 ไร่ให้ผู้ที่สนใจเช่าพัฒนาโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และคอมมูนิตีมอลล์ พร้อมนำผลงานวิจัยจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยขึ้นมาพัฒนาต่อยอดสู่ “จากหิ้งสู่ห้าง”



นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ใช้งบลงทุนราว 3 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเกิดโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เฟสแรก ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ที่มีอยู่ราว 3,500 ไร่ ใน จ.ระยอง คาดว่าการพัฒนาพื้นที่ EECi ในเฟสแรกจะแล้วเสร็จภายใน 10 ปีข้างหน้า โดย ปตท.จะลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้วเสร็จก่อนในปี 2563

ขณะนี้เริ่มมีลูกค้าทยอยเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ในเขต Innovation Zone บ้างแล้ว ทั้งในส่วนของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre : PTIC) คาดว่าจะเสร็จปี 2563 และ สวทช.จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563-64

นอกจากนี้ ในต้นเดือน ก.ค. ปตท.เตรียมลงนามให้เช่าใช้พื้นที่กับ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพื่อทำโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์รูฟลอยน้ำ กำลังผลิตรวม 2 เมกะวัตต์ และทาง สวทช.ก็น่าจะเช่าพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาจัดสรรให้กับกลุ่ม Synchrotron ที่มีความต้องการพื้นที่ราว 200 ไร่ รวมถึง ปตท.ก็มีความร่วมมือด้านต่างๆ กับกลุ่มจีอี จากสหรัฐฯ และในท้ายสุดก็อยากให้จีอีเข้ามาตั้ง global research center ใน EECi และยังได้ลงนามความร่วมมือกับหัวเว่ย เพื่อจะนำเทคโนโลยีมาใช้และจะทำแผนงานร่วมกันในรูป Innovation Campus ของหัวเว่ยใน EECi เป็นต้น

นางหงษ์ศรีกล่าวว่า เขต Community Zone จะมีทั้งหมดประมาณ 100 ไร่ ปตท.ก็เตรียมจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และคอมมูนิตีมอลล์ โดยคาดว่าจะเปิดร่างเอกสารเชิญชวนประมูลสำหรับการเช่าพื้นที่ สัญญาประมาณ 30 ปี เพื่อทำโรงเรียนนานาชาติก่อนในช่วงไตรมาส 3/62 หลังจากนั้นจะทยอยเปิดการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ต่อไป เพื่อให้แล้วเสร็จตั้งแต่ในช่วงปี 2563-65

ด้านนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มีแผนจะนำผลงานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีอยู่จำนวนมากมาพัฒนาเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์หรือจากหิ้งสู่ห้าง โดย ปตท.อาจจะต้องตั้งทีมหรือบริษัทใหม่ขึ้นมาดำเนินการ

นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจากับมหาวิทยาลัยในการนำผลงานวิจัยที่จะพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้วย ที่ผ่านมาผลงานการวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยมักจะหยุดทำระดับหนึ่ง จำเป็นต้องมีบริษัทที่ต้องกล้าที่จะลงทุนต่อยอดให้สามารถผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์และบริษัทนั้นต้องมีเงินทุนมากพอ
เพราะมีโอกาสที่จะไม่สำเร็จได้ ทำให้ที่ผ่านมาจึงเป็นจุดบอดของประเทศไทยในการต่อยอดสู่สตาร์ทอัพ ดังนั้น ปตท.จึงให้ความสนใจต่อยอดผลงานวิจัยนอกเหนือจากการที่เข้าไปลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (VC) หรือการซื้อกิจการแล้วเข้าสู่ธุรกิจ New S-Curve ใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น