ผู้จัดการรายวัน 360 - เปิดโมเดลสูตรการลงทุนในต่างประเทศของซีพีเอ็น ต้องผนึกพันธมิตรท้องถิ่น พร้อมดันธุรกิจแบรนด์ไทยเปิดตลาดต่างประเทศ ยกระดับสู่อินเตอร์แบรนด์ ประเดิมร่วมทุนกับกลุ่มไอ-เบอฮาด ยักษ์ใหญ่มาเลเซีย ผุดศูนย์การค้ายักษ์ เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ ที่สลังงอร์ มาเลเซีย จับตาโครงการใหม่ จ้องตลาดมาเลเซียและเวียดนามต่อไป
เปิดเป็นทางการไปเรียบร้อยแล้วสำหรับ โครงการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ (Central i-City ที่เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์ มาเลเซีย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา อย่างยิ่งใหญ่ ต้องถือว่าโครงการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ นี้เป็นโครงการนำร่องโครงการแรกของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ในการไปปักหมุดสร้างฐานการลงทุนในต่างประเทศเป็นครั้งแรกในนามของซีพีเอ็นเอง
*** เปิดโมเดลรุก ตปท.ของซีพีเอ็น
การทำธุรกิจในไทยกับในต่างประเทศอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว และสูตรสำเร็จก็ไม่เหมือนกัน เพราะตลาดต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน การแข่งขันต่างกัน พฤติกรรมคนต่างกัน และอีกหลายอย่างที่ต่างกันไป
นี่คือความท้าทายของซีพีเอ็นที่ต้องทำการบ้านให้มาก
อย่างไรก็ตาม ซีพีเอ็นจึงไม่เดินเดี่ยว ต้องหาพันธมิตรลงทุนร่วมด้วย ซึ่งหลังจากที่ได้รับการทาบทามจาก กลุ่มไอ-เบอร์ฮาด ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของมาเลเซียแล้ว ได้ทำการวิเคราะห์ ศึกษารายละเอียดทุกอย่าง ก็ตัดสินใจตั้งบริษัทร่วมทุน โดยซีพีเอ็นถือหุ้น 40% และทางไอ-เบอร์ฮาดถือหุ้น 60% เพื่อสร้างโครงการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ (Central i-City ที่เมืองชาห์อลัม รัฐสลังงอร์ มาเลเซีย และถือเป็นโครงการที่ 34 ของซีพีเอ็น
เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ i-City Ultrapolis ทำเลใหม่ของชาห์อลัม เมืองหลวงของรัฐสลังงอร์ มาเลเซีย ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ 22 กิโลเมตร I-City Ultrapolis เป็นโครงการใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม โดยรัฐบาลแห่งสลังงอร์ ที่จะผลักดันให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยวระดับเวิลด์คลาสที่สมบูรณ์แบบที่สุดของมาเลเซีย ประกอบด้วย ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัย โรงแรม และศูนย์กลางทางด้านไซเบอร์และนวัตกรรม
นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีพีเอ็น กล่าวว่า การทำธุรกิจในต่างประเทศของซีพีเอ็น เราต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจทั้งตลาดรวม พฤติกรรมผู้บริโภค กฎหมาย และสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างถ่องแท้และละเอียด เพราะแต่ละที่แต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราทำโครงการใหม่ก็ต้องประยุกต์และศึกษาทำเลนั้นอย่างดี เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงานวางแผนโครงการ เพราะเราไม่ได้สร้างแค่ศูนย์การค้า แต่เราสร้างประสบการณ์และการใช้ชีวิตและสร้างไลฟ์สไตล์ให้แก่ผู้บริโภค
“เราได้ทำการเจรจากับทางกลุ่มไอ-เบอร์ฮาดมานาน รวมทั้งการศึกษา วางแผนงาน พัฒนา รายละเอียดทุกอย่าง กระทั่งเปิดบริการ ใช้เวลานานถึง 7 ปี” นางสาววัลยากล่าว
“โจทย์ของเราคือ ต้องทำอย่างไรจึงจะดึงดูดให้คนมาเลเซียและคนต่างชาติมาเที่ยวที่โครงการนี้ให้มากที่สุด เราจะต้องทำหลายอย่างเพื่อคำนึงถึงคนหลายเชื้อชาติที่นี่ ซึ่งเราต้องทำแบบเทเลอร์เมด (Tailor Made) เพื่อรองรับตลาดที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การบริการต่างๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของคนท้องถิ่นเป็นหลัก ได้แก่ ชาวมาเลเซีย ชาวจีน และอินเดีย รวมถึงกลุ่ม Expat ชาวตะวันตก แต่ยังคงเอกลักษณ์ศูนย์การค้าของไทยไว้ เรียกได้ว่าเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบ Multi-culture อย่างแท้จริง ตามคอนเซ็ปต์การสร้าง Center of Life ในทุกที่ที่เราเข้าไปลงทุน โดยศูนย์การค้าของเราจะเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตสำหรับคนในชุมชนอีกด้วย”
ซีพีเอ็นมุ่งไปในทางที่ตัวเองถนัด คือ การลงทุนและบริหารศูนย์การค้า ไม่ได้ไปลงทุนในส่วนอื่น และศูนย์การค้าในย่านดังกล่าวก็ไม่มีที่เป็นขนาดคอมเพล็กซ์แบบนี้ จึงมองว่าน่าจะมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการที่จะลงทุน เพราะหากมองไปที่ย่านเศรษฐกิจกลางเมือง หรือในเมือง จะพบว่ามีศูนย์การค้าหรือค้าปลีกต่างๆ เปิดบริการจำนวนมากแล้ว ซีพีเอ็นมองกรณีนี้เหมือนเป็นการสร้างเซ็นทรัลเวสต์เกต หรือเซ็นทรัลอีสต์วิลล์ในไทย ที่ขยายออกมาตามชานเมืองที่มีศักยภาพและเป็นชุมชนที่มีแนวโน้มเติบโตมากในอนาคต
แต่หลักใหญ่ใจความในการลงทุนยึด 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. ผู้บริโภค 2. ทำเล และ 3. ตลาดที่นั่นเป็นอย่างไร
จากข้อมูลของประเทศมาเลเซียจะพบว่า ในมาเลเซียนี้เป็นประเทศที่มีประชากรอยู่หลากหลาย ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม กล่าวคือ อิสลาม 61.3%, พุทธ 19.8%, คริสต์ 9.2%, ฮินดู 6.2% และอื่นๆ 3.5%
มาเลเซียถือเป็นตลาดใหญ่ไม่น้อย แม้ว่าจะมีประชากรน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่งหรือมีประมาณ 32.5 ล้านคน (พ.ย. 2561) แต่ก็มีรายได้สูงกว่าคนไทยเฉลี่ยเกือบ 2 เท่าตัว หรือมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 10,703.60 ดอลลาร์สหรัฐ และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 347.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงถึง 4.7% (ปี 2561)
นางสาววัลยากล่าวว่า “เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ จะเป็นโครงการของซีพีเอ็นที่นำธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ของไทยบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกระดับภูมิภาค แสดงศักยภาพศูนย์การค้าไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าไทยขนาดใหญ่เต็มรูปแบบจะดังไกลระดับอินเตอร์ โดยเรานำความเชี่ยวชาญทุกด้านในการพัฒนาศูนย์การค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Design, Merchandise Mix, Service และการสร้างสรรค์อีเวนต์ที่แปลกใหม่มานำเสนอประสบการณ์ที่แตกต่างให้แก่ผู้บริโภคทั้งคนมาเลเซีย และคนต่างชาติ
การเปิดศูนย์ฯ ครั้งนี้ยังถือเป็นสปริงบอร์ดให้กับธุรกิจร้านค้าจากไทยได้เติบโตไปด้วยกัน นอกจากร้านท้องถิ่น ร้านอินเตอร์แบรนด์แล้ว ยังมีธุรกิจของไทยที่ซีพีเอ็นดึงและชักชวนไปเปิดสาขาที่นี่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่อะเมซอน แบล็คแคนยอน บาร์บีคิวพลาซ่า ชาตรามือ ชาพะยอม หรือบางรายก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจเช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของเซ็น เป็นต้น
“ที่ผ่านมาแบรนด์ไทยจะไปเปิดในต่างประเทศก็จะลำบาก เพราะไม่มีศูนย์การค้าของไทยรองรับ มีแต่ศูนย์การค้าของต่างชาติ การประสานงานก็ลำบาก อีกทั้งไม่มีความมั่นใจ การตัดสินใจก็ย่อมเสี่ยง แต่เมื่อคราวนี้เป็นศูนย์การค้าของคนไทยเอง การเจรจาก็และการตัดสินใจจะลงทุนของร้านค้าก็ง่าย เพราะมีความมั่นใจ ไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้น ซึ่งบางรายก็เป็นลูกค้าห้องเช่าของซีพีเอ็นในเมืองไทยอยู่แล้ว จึงไม่ยากที่จะนำกลุ่มธุรกิจของไทยไปขยายธุรกิจในมาเลเซียด้วยกัน” นางสาววัลยากล่าว
นายแอนโธนี ดีแลน อานัก แฟรงกี จูเร็ม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ ซีพีเอ็น มาเลเซีย กล่าวว่า หลังจากที่ได้เปิดบริการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ อย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนมาเลเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในวันธรรมดามีคนเข้าศูนย์ฯประมาณ 30,000 คนต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์มีคนเข้าศูนย์ฯ เฉลี่ย 50,000 คนต่อวัน ทั้งๆ ที่ร้านค้าในศูนย์การค้ายังเปิดได้เพียง 60% เท่านั้น และคาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมีร้านค้าใหม่ที่จะเปิดอีก 85% ของพื้นที่ ซึ่งทำเลที่ตั้งในย่านนี้มีประชากรอาศัยรวมประมาณ 1.4 ล้านคน
* สถานีต่อไปของซีพีเอ็นจะปักหมุดที่ไหน
ต่างประเทศถือเป็นตลาดใหม่ที่ซีพีเอ็นจะรุกมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ที่บริหารโครงการในไทยมาแล้วมากกว่า 33 แห่ง การเปิดตัวในต่างประเทศถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่
“การพัฒนาโครงการนี้เรามองไกลถึงระดับภูมิภาค และเราจะสร้างเครือข่ายของธุรกิจศูนย์การค้าในระดับภูมิภาคด้วยโรดแมป ‘Central to ASEAN’ ปั้น ‘Regional Retail Platform’ เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคและ AEC โดยแพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง รองรับการเติบโตของธุรกิจต่างๆ ให้เชื่อมโยงกันในเขตเศรษฐกิจ เช่น สินค้าไทยไปมาเลเซีย, สินค้ามาเลเซียไปเวียดนาม, สินค้าเวียดนามมาไทย เป็นต้น รวมทั้งยังสามารถช่วยเหลือกลุ่ม SMEs โดยมี ซีพีเอ็นเป็นผู้ปูทางให้ไม่ต้องเหนื่อยหาช่องทางโตเอง ทั้งนี้เราต้องการเป็นเสมือนแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ของประเทศไทยในต่างแดน ที่ช่วยส่งเสริมสินค้าไทย และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ประเทศไทยอีกด้วย” นางสาววัลยากล่าว
การรุกตลาดต่างประเทศ เป้าหมายหลักของซีพีเอ็นคือ ตลาดอาเซียนเป็นหลักก่อน ซึ่งต้องสร้างการเติบโตให้ได้ หลังจากที่ตลาดในไทยแข็งแกร่งแล้ว
แผนรุกต่อไปก็มีการวางไว้ ซึ่งเบื้องต้นนี้คือ เวียดนาม กับไทย
นางสาววัลยากล่าวว่า ช่วงแรกนี้เรายังมีโครงการที่ศึกษาอยู่ต่อเนื่องในต่างประเทศ โดยยังมีการศึกษาอีก 2 ทำเลในมาเลเซีย ซึ่งยังไม่จำเป็นที่จะต้องร่วมทุนกับกลุ่มเดิม ขึ้นอยู่เป็นกรณีไป และยังศึกษาในเวียดนามอีก 2 ทำเล เช่นเดียวกัน เวียดนามก็เป็นอีกตลาดหนึ่งในอาเซียนที่มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลเองก็มีการลงทุนในเวียดนามอยู่ก่อนหน้านี้แล้วในหน่วยธุรกิจอื่น เราเองต้องมองหาโอกาสในตลาดใหม่ๆตลอด ซึ่งโมเดลที่เราจะลงทุนในต่างประเทศนั้น คงต้องเป็นรูปแบบของการร่วมทุน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรเดิม หรือจะถือหุ้นเท่าไรก็แล้วแต่การเจรจา ซึ่งเรามองว่า ไทย มาเลเซีย เวียดนาม เราสามารถที่จะสร้างตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจกันได้ จะสร้างแพลตฟอร์มใหม่ใน 3 ประเทศนี้