เปิดลายแทง “คมนาคม” รอรัฐบาลใหม่ บิ๊กโปรเจ็กต์! ค้างท่อ 1.7 ล้านล้าน เผือกร้อน! เวนคืน “มอเตอร์เวย์” ซื้อฝูงบินล็อตใหญ่-เทอร์มินัล 2
ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ทำยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนผ่านแผนปฏิบัติการ (Action Plan) รายปี โดยในปี 2562 มี 41 โครงการ กรอบวงเงินลงทุนกว่า 1.77 ล้านล้านบาท
แต่ทว่า เพราะเป็นรอยต่อที่รัฐบาล คสช.จะสิ้นสุด และรัฐบาลจากการเลือกตั้งกำลังจะเข้ามาทำหน้าที่แทน จึงเป็นที่จับตาว่าโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ จะได้รับการขับเคลื่อนต่อเนื่องให้สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่
โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โครงการะบบรางถือว่าได้รับการผลักดันเป็นพิเศษ มีการอนุมัติงบลงทุนจำนวนมหาศาลเป็นประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ เฟสแรก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. เงินลงทุนกว่า 1.18 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562-2566
ส่วนรถไฟทางคู่เฟส 2 อีก 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กม. เงินลงทุนกว่า 2.72 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายละเอียดเสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) พิจารณา จากนั้นจึงจะเสนอ ครม.ชุดใหม่
“วรวุฒิ มาลา” รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การลงทุนรถไฟทางคู่เฟส 2 คาดว่ารัฐบาลอาจจะมีการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งแตกต่างจากรถไฟทางคู่ระยะแรกที่มีการอนุมัติพร้อมกัน ทั้งนี้ เพื่อทยอยการลงทุน ซึ่งอาจจะอนุมัติโดยดูเส้นทางที่จะทำให้ครบโครงข่าย โดยเฉพาะเส้นทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจจะได้รับการอนุมัติก่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ สามารถเชื่อมการขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าจากหนองคาย นครพนม อุบลราชธานี มายังชุมทางถนนจิระ แก่งคอย เพื่อส่งต่อไปยังท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง
ขณะที่รถไฟทางคู่สายใหม่จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติตั้งแต่ปี 2561 และล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2562 ครม.ได้อนุมัติเส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ถือเป็นโปรเจกต์รถไฟที่มีมูลค่าการลงทุนรวมถึง 1.5 แสนล้านบาท ที่รอรัฐบาลใหม่มาตัดเค้กเปิดประมูล
ยังไม่รวมรถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยายอีก 3 สายที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว มูลค่า 23417.61 ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, สีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมเปิดประมูล
นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีโปรเจกต์ที่อยู่ในแผนงานมูลค่าหลายแสนล้านบาทเข้าคิวรอรัฐบาลใหม่ทำคลอด เช่น รถไฟความเร็วสูง ความร่วมมือไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ซึ่งได้มีการปรับกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 50,633.50 ล้านบาทที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา
การดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. เงินลงทุนกว่า 2.10 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 210 กม. เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท
@รถไฟฟ้าสีส้ม และม่วงใต้ กว่า 2 แสนล้าน
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มี 2 โครงการสำคัญ ซึ่งคณะกรรมการร่วมทุนรัฐและเอกชน (PPP) เห็นชอบแล้ว รอจ่อเข้า ครม. ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. เงินลงทุนค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท ค่าระบบและรถไฟฟ้ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. เงินลงทุน 101,112 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประมูลก่อสร้าง โดย รฟม.ตั้งเป้าจะประกวดราคาก่อสร้างในช่วงปลายปี 2562
@เผือกร้อน งบเวนคืนมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” พุ่งปรี๊ด
กรมทางหลวงมีโครงการใหญ่อย่าง มอเตอร์เวย์ ซึ่งได้รับอนุมัติไปแล้ว 3 โครงการ ได้แก่ สายบางปะอิน-นครราชสีมา, สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งได้เปิดประมูลเริ่มก่อสร้างแล้ว แต่ยังติดปัญหาการเพิ่มงบค่าเวนคืนที่ดิน สายบางใหญ่-กาญจนบุรี จากกรอบเดิม 5,420 ล้านบาท เป็น 19,637 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14,217 ล้านบาท ซึ่งปมค่าเวนคืนที่พุ่งกระฉูดให้งานก่อสร้างดีเลย์ถึง 2 ปีแล้ว และเป็นเผือกร้อนรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ
นอกจากนี้ ยังมีมอเตอร์เวย์สายใหม่ และที่พักริมทางมอเตอร์เวย์ที่เข้าคิวรออนุมัติ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ มูลค่าเงินลงทุนรวม 79,006 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดน/มาเลเซีย มูลค่า 37,470 ล้านบาท, ทางยกระดับ อุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 29,269.97 ล้านบาท และทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ช่วงบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว 32,285 ล้านบาท, ที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา 1,579.88 ล้านบาท, ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา ช่วงชลบุรี-พัทยา 1,504 ล้านบาท, สถานที่บริการทางหลวงบางละมุง 620 ล้านบาท
@ชงผุดทางด่วน N2 และสายกระทู้-ป่าตอง
สำหรับโครงการทางด่วนนั้น มีโครงการใหม่ที่เตรียมนำเสนอ ครม. คือ สายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กม. เงินลงทุน 14,177.22 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W corridor ด้านตะวันออก วงเงินลงทุน 14,382 ล้านบาท เบื้องต้น กทพ.จะใช้เงินลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือTFF
@เรื่องด่วน จัดหาฝูงบินใหม่ 38 ลำของการบินไทย 1.6 แสนล้าน
ขณะที่แผนจัดหาฝูงบินใหม่ จำนวน 38 ลำ วงเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ของการบินไทย ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของสภาพัฒน์แล้ว ยังต้องลุ้น ครม.ใหม่ว่าจะเอาด้วยหรือไม่ ซึ่งตามแผนการบินไทย แบ่งการจัดหาล็อตแรกจำนวน 25 ลำก่อน เพื่อให้มีการทยอยรับมอบใน 2 ปี เพื่อมีเครื่องบินใหม่มาเสริมประสิทธิภาพการให้บริการ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟู แก้ปัญหาขาดทุน
@ทอท.ดันก่อสร้างเทอร์มินัล 2
โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงินโครงการ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถูกวิพากษ์วิจารณ์การประมูลออกแบบ และการปรับแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นอีกประเด็นร้อนที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิ
@ฟื้นฟู ขสมก. ซื้อรถเมล์ใหม่ 2,188 คัน วงเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.พร้อมสนอ ครม.แล้ว โดยจะมีการแก้ปัญหาหนี้สินกว่าแสนล้านบาท พร้อมกับการซื้อรถใหม่ 3,000 คัน วงเงินลงทุน 21,210.343 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ได้จัดหาแล้ว 489 คันวงเงิน 1,891.452 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะดำเนินการภายใน 3 ปี (62-64) โดยปี 2562 จะปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV (เดิม) จำนวน 323 คัน
ขณะที่จะมีการซื้อรถใหม่ จำนวน 2,188 คัน ได้แก่ จัดซื้อรถไฟฟ้า (EV) จำนวน 35 คัน พร้อมสถานีเติมก๊าซ วงเงิน 466.94 ล้านบาท
ที่เหลือจะเป็นแผนในปี 2563 ได้แก่ เช่ารถโดยสารใหม่ จำนวน 700 คัน วงเงินรวม 7,000 ล้านบาท (เช่ารถไฮบริด 400 คัน วงเงิน 4,800 ล้านบาท, เช่ารถ NGV 300 คัน วงเงิน 2,200 ล้านบาท) และปี 2564 จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 1,453 คัน วงเงิน 11,624 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนโปรเจกต์ภายใต้การกำกับของ รมว.คมนาคม “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ใช้นโยบาย One Transport โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2561-2565) วงเงินลงทุนรวม 1,714,241 ล้านบาท โครงการส่วนใหญ่ดำเนินการเห็นเป็นรูปธรรม และบางโครงการใกล้แล้วเสร็จ
ระยะที่ 2 โครงการที่ดำเนินการในปี 2566-2570 วงเงินลงทุนรวม 636,863 ล้านบาท
ระยะที่ 3 ดำเนินการในปี 2571-2575 วงเงินลงทุนรวม 418,121 ล้านบาท
ระยะที่ 4 ดำเนินการในปี 2576-2580 วงเงินลงทุนรวม 318,436 ล้านบาท
ทว่า! หากโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นของพรรคภูมิใจไทย ส่วนพลังประชารัฐได้แค่รัฐมนตรีช่วยฯ ...มีความเป็นไปได้ที่หลายโครงการคมนาคมอาจต้องมีการ “ปรับ...เปลี่ยนจากแผน ไม่มากก็น้อย”
แม้หัวโต๊ะ ครม.จะยังเป็น “พลเอก ประยุทธ์” คนเดิม แต่ต้องไม่ลืมว่า ครม.ใหม่เป็นนักการเมืองกว่าครึ่ง โดยเฉพาะพวก “รุ่นเก่า...เก๋าเกม” ที่จะเบ็ดเสร็จ สั่งหันซ้ายหันขวาคงจะไม่ง่าย...เหมือนเดิมแน่นอน!