xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน 3 ตัวเลือก “สนามบินอู่ตะเภา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประมูลสนามบินอู่ตะเภาเรื่องยังค้างคากันอยู่ในศาลปกครอง ในขณะที่คนไทยรออย่างมีความหวัง เพราะตอนนี้ ดอนเมืองแน่น สุวรรณภูมิเอี้ยด จนแอร์ไลน์หลายแห่งเล็งหาสนามบินชาติอื่นทดแทน หากอู่ตะเภาเดินมาครึ่งๆ กลางๆ คงดับฝันฮับการบินภูมิภาค ทำให้การประมูลสนามบินอู่ตะเภาคือความหวังที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับการบินได้จริงๆ และฟากสุวรรณภูมิเองก็เกินขีดความสามารถแล้ว ต่อวันมีเที่ยวบินให้บริการเฉลี่ย 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ถือว่าเต็มที่แล้ว ทั้งที่เวลานี้มีสายการบินจากจีนและอินเดียขอเพิ่มเที่ยวบินอีกวันละ 30 เที่ยวบิน ก็รับไม่ไหว หากใครเดินทางบ่อยๆ คงมีประสบการณ์บินวน รอเวลาลง เปลืองน้ำมัน เพิ่มต้นทุน

นอกจากนี้ ในส่วนดอนเมืองมีเที่ยวบิน 253,544 เที่ยวบิน เที่ยวบินเพิ่มขึ้น 4.09% ผู้โดยสาร 37.18 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.19% ทำให้ต้องวิเคราะห์เจาะลึกกันว่าผลการประมูลออกมาทางผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 รายถือไพ่อะไรกันบ้าง ผลลัพธ์ที่ออกมาจะมีความแตกต่างกันอย่างไร

กลุ่มแรก กับยุทธศาสตร์ ภาพไม่ใหญ่ กำไรมาก ความเสี่ยงน้อย คือกลุ่มบีบีเอส ภายหลังจากพลาดไฮสปีด 3 สนามบิน งานนี้เจ้าพ่อรถไฟฟ้า "คีรี กาญจนพาสน์" ผนึกกับ "นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ" และบิ๊กรับเหมา ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS มี บมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือหุ้นใหญ่ 45% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ถือหุ้น 35% และ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ถือหุ้น 20% โดยอาจเน้นไปที่สายการบินโลว์คอสเป็นหลัก และการทำเรื่องบริหารพื้นที่การค้าสนามบิน และได้ดึง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ซึ่งต่อมาหลังจากยื่นซองประมูลไปแล้วสองสัปดาห์ก็ได้มีข่าวออกมาว่า ได้ดึง สนามบินนาริตะ เข้ามาร่วมในกลุ่มด้วย เพราะหากใช้แค่การบินกรุงเทพจะติดเงื่อนไขของทีโออาร์ ซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่เอกชนต้องนำเสนอ คือ ต้องระบุรายชื่อ Subcontract ซึ่งจะเป็นผู้รับจ้างในการบริหารสนามบิน (operator) ที่มีประสบการณ์บริหารสนามบินที่มีผู้โดยสารเกิน 10 ล้านคน จนเกิดเป็นดรามาว่ายื่นรายชื่อนาริตะก่อนหรือหลังยื่นซอง แต่แหล่งข่าวชี้ว่า การได้นาริตะมาร่วมก็จะทำให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางสนามบินโลว์คอสเป็นหลัก ซึ่งจะเสริมดอนเมืองเรื่องการท่องเที่ยว แต่จะไม่ได้ช่วยสร้างอีอีซีเป็นฮับการบินได้มากนัก โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ แต่คุ้มค่า และเสี่ยงต่ำ

กลุ่มที่สอง ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางโลว์คอสต์ฮับ ขับเคลื่อนโดยแอร์เอเชียของมาเลเซีย คือ กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม" ที่ประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) (อยู่ในกลุ่ม บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค) ถือหุ้น 80%, บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (บ.ย่อยของ บมจ.เอเชียเอวิเอชั่น (AAV)) ถือ 10% และ บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) (CNT) ถือ 10% โดยมี Malaysia Airports Holding Berhad กลุ่มต่างชาติที่บริหารสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่ที่น่าจับตาคือ มาเลเซียเองก็ต้องการเป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาค ดังนั้น หากกลุ่มนี้ชนะการประมูล จะยอมให้ไทยเป็นฮับจริงหรือ การดึงสายการบินอินเดียมาร่วมน่าจะมีโอกาสมากกว่า ทำให้ต่อมาหลังจากยื่นซองประมูลได้มีการเปิดเผยชื่อ "GMR Group" จากอินเดียมาเป็นผู้บริหารสนามบิน ซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่า เสนอชื่อก่อนหรือหลังการยื่นซอง ซึ่งต้องว่ากันไปตามกระบวนการ

รายสุดท้าย กับยุทธศาสตร์ดันอู่ตะเภาเป็นฮับการบิน คือกลุ่มซีพี เพื่อให้อีอีซีเกิดทั้งระบบ เพราะเดิมพันด้วยจำนวนผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูง ทำให้ซีพีต้องทำอีอีซีให้เกิด และดันสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นฮับการบิน ซึ่งคาดว่าจะจับมือกับพันธมิตรเดิมที่เข้าร่วมประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทั้งจีน และ ญี่ปุ่น และเสริมทัพด้วยพันธมิตรใหม่ระดับโลกอย่าง บจ.บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้งส์ และ บจ.Fraport AG Frankfurt Airport Service Worldwide (ฟราพอร์ท) ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป และข้อได้เปรียบในการเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กลุ่มซีพีได้ไปก่อนหน้านี้ ทำให้หากกลุ่มซีพีชนะการประมูล จะเป็นการออกแบบที่ไร้รอยต่อ บวกกับประสบการณ์ของฟราพอร์ท จากเยอรมนี ถือว่าจะมาเสริมสนามบินสุวรรณภูมิให้ไทยกลายเป็น Airport City ที่เทียบชั้นสนามบินชั้นนำระดับโลก และยังพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ แต่ถือว่าต้องลงทุนสูง และมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ร่วมประมูลกลุ่มอื่นๆ ที่เสนอภาพใหญ่ของการเป็นฮับการบินเทียบชั้นระดับภูมิภาค

คงต้องลุ้นกันถึงยกสุดท้ายว่าทั้ง 3 กลุ่มจะได้เปิดซอง วัดใจที่ตัวเลข หรือจะมีวิชา ตัดขา ตกรอบกันไปตั้งแต่ก่อนออกสตาร์ท แต่หากได้วัดกันที่ตัวเลขว่าใครให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ คนไทยก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะอุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยในอนาคต โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีการจ้างงานประมาณ 4 ล้านคนในปี 2578 เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 2 ล้านคนในปี 2558 โดยตัวอุตสาหกรรมเองก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้เพื่อรองรับการเป็นฮับการบินอย่างแท้จริง ส่วนจะได้ภาพใหญ่ ภาพกลาง หรือภาพเล็ก ยังไงก็ยังดี เพราะสนามบินที่มีตอนนี้ ทั้งแน่น ทั้งเต็ม ก่อนแอร์ไลน์ต่างๆ จะเปลี่ยนใจ ย้ายไปที่อื่น ถึงวันนั้นคงจะถึงกลับมาไทย ไม่ใช่ง่ายอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น