xs
xsm
sm
md
lg

“AMATA” เกาะติดทุนจีนทยอยเข้าไทยเพิ่มหลบภัยสงครามการค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"AMATA" เผยแนวโน้มนักลงทุนจากจีนเริ่มทยอยเข้าไทยหลังเผชิญภาวะสงครามการค้ากับสหรัฐฯ คาดสิ้นปีนี้ยังมาต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายอีอีซีที่ยังเป็นแม่เหล็ก แนะให้เร่งขับเคลื่อนการบริการครบวงจร แต่ยังคงต้องเกาะติดนโยบายทรัมป์หลัง 600 บริษัทสหรัฐฯ ทำหนังสือขอให้ยุติสงครามการค้ากับจีน มั่นใจยอดขายที่ยังเป็นไปตามเป้า

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA เปิดเผยว่า จากภาวะสงครามการค้าโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลให้นักลงทุนจีนมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนยังไทยเพิ่มขึ้น โดยสะท้อนจากนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง ที่มีสัดส่วนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนเป็นอันดับหนึ่งสัดส่วน 36% จากอดีตที่อยู่อันดับ 2-3 และคาดว่าจะมีเข้ามาต่อเนื่องในสิ้นปีนี้

"นิคมฯ อมตะซิตี้ ระยอง นักลงทุนจีนแซงญี่ปุ่นแล้ว โดยญี่ปุ่นมีสัดส่วนเข้ามาลงทุน 31-32% ขณะที่นิคมฯ อมตะซิตี้ ชลบุรี ญี่ปุ่นยังครองสัดส่วนเข้ามาลงทุน 60% จีนยังอยู่ที่ 2-3% ปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนเลือกนิคมฯอมตะซิตี้ ระยองเหตุผลเพราะมีราคาที่ดินต่ำกว่าชลบุรี 2 เท่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่ดินในไทยภาพรวมดูจะสูงขึ้นแต่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนไทยถือว่าต่ำมาก" นายวิบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด 600 บริษัทในสหรัฐฯ ได้ทำหนังสือยื่นต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ยุติสงครามการค้า ทำให้ต้องติดตามใกล้ชิดว่านโยบายทรัมป์ต่อการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากับจีนจะเป็นอย่างไรซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ด้วย ส่วนโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านมาถือเป็นแรงดึงดูดสำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในระยะหลังเริ่มแผ่วลงเพราะติดขั้นตอนการพิจารณาการลงทุนที่ต้องผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วจึงมาที่สำนักงานอีอีซี ซึ่งตาม พ.ร.บ.อีอีซีจะต้องเป็น One Stop Service แต่เนื่องจากบุคลากรสำนักงานอีอีซียังมีไม่เพียงพอจึงอยากให้เร่งดูแลในเรื่องนี้

สำหรับอมตะปีนี้ตั้งเป้ายอดขายนิคมฯ ในประเทศประมาณ 950 ไร่ โดยล่าสุดขายแล้ว 200 กว่าไร่ โดยยอดขายพื้นที่เป็นวัฏจักรที่จะมีมากช่วงสิ้นปี โดยยังคาดหวังว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายแต่ก็ยอมรับว่ายังมีหลายปัจจัยต้องติดตาม ส่วนประเด็นการเมืองขณะนี้เมื่อมีนายกรัฐมนตรีชัดเจนก็เชื่อว่านักลงทุนก็ตอบรับแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เริ่มกังวลคือนิคมฯ บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 ที่มีหลายแห่งทั้งใหม่และเก่านั้นอาจจะมีการใช้ราคาในการแข่งขัน (ดัมป์ราคา) แต่อมตะยืนยันว่าจะไม่เน้นลดราคาแน่นอนด้วยเพราะมีจุดยืนที่เน้นอุตสาหกรรมสะอาด และมีมาตรฐานการบริการหลังการขายที่ดี

"สงครามการค้าทำให้จีนเข้ามาลงทุนไทย ส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เพิ่มขึ้น ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนจะห่วงว่าอนาคตอาจทำให้สหรัฐฯ มาเพ่งเล็งไทย ผมว่าเป็นเรื่องระยะยาวจากนั้นและอาจมีตัวแปรอื่นๆ เปลี่ยนแปลง แต่การมาลงทุนมีผลต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยโตก็โอเคแล้วส่วนสิ่งที่เป็นอุปสรรคการพัฒนานิคมฯ ที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขคือ เมื่อมีการซื้อที่ดินรวมเป็นผืนใหญ่บางครั้งจะติดสิ่งก่อสร้างสาธารณะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่นถนนที่ตันใช้ไม่ได้ คลองน้ำตัน อดีตก็ไม่มีปัญหาอะไรยกเลิกได้ แต่ขณะนี้ไม่ได้ยังติดอยู่แล้วก็ทำอะไรไม่ได้กลายเป็นภาระเอกชน อยากจะให้ดูแลจุดนี้" นายวิบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น