xs
xsm
sm
md
lg

แก้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง-รัฐต้องชดเชย “กรมราง” คาดปลายปีศึกษาโครงสร้างเสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กรมราง” คาด 4-5 เดือนศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้าเสร็จ ตัวเลขชัด รอคลอด พ.ร.บ.ขนส่งทางราง และกฎหมายลูก ให้อำนาจออกประกาศเป็นเพดานขั้นสูงควบคุม ยอมรับสัมปทานแก้ย้อนหลังไม่ได้ รัฐต้องหาทางชดเชยส่วนต่างให้ประชาชน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาโอนทรัพย์สินฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการโอนทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลัง ของ สนข.ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง โดยในส่วนของทรัพย์สินสำนักงานที่ขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ มีจำนวน 121 รายการ ส่วนอัตรากำลังที่ต้องการ 203 คน เบื้องต้นจะเป็นอัตราจากสำนักงานพัฒนาระบบราง สนข.ที่ปรับไปเป็นกรมราง จำนวน 48 คน (ข้าราชการ 44 คน, พนักงานราชการ 4 คน) และเกลี่ยจากข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้อีก 20 อัตรา ส่วนอัตราที่เหลือจะทยอยจัดสรรให้ปลายปี 2562

สำหรับการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบรางซึ่งเดิม สนข.ดำเนินการ จากนี้จะต้องโอนให้กรมรางรับโครงการไปดำเนินการ ทั้งผลการศึกษา และงานที่อยู่ระหว่างศึกษา โดยแต่ละปี สนข.จะมีการศึกษาโครงการต่างๆ ประมาณ 8-10 โครงการ โดยเป็นการศึกษาด้านระบบรางประมาณ 2 โครงการ เช่น งานระบบเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับรถไฟ เป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน สนข.ได้จ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาระบบกำกับดูแลกิจการขนส่งทางรางสำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นการศึกษาจัดทำร่างกฎกระทรวง ระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการระบบราง เช่น การกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ, หลักเกณฑ์เงื่อนไขการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ, ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ เช่น คนขับรถไฟฟ้า, การกำหนดค่าโดยสารและค่าบริการ ค่าระวาง เป็นต้น

ในส่วนของค่าโดยสารนั้น กรมรางในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะออกประกาศโครงสร้างค่าโดยสาร และค่าระวางระบบรางทุกประเภท โดยจะกำหนดเป็นเพดานขั้นสูง อย่างไรก็ตาม อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีจัดเก็บตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานซึ่งการแก้ไขทำได้ยาก

ดังนั้น หากผลการศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารที่เหมาะสมต่ำกว่าอัตราที่เก็บจริงในปัจจุบัน ภาครัฐจะต้องหาแนวทาง เช่น ชดเชยส่วนต่างต่อคน-ต่อเที่ยว ซึ่งจะต้องพิจารณาแหล่งเงินหรืองบประมาณที่จะนำมาใช้ในการชดเชยส่วนต่างค่าโดยสารด้วย ซึ่งภายใน 4-5 เดือนนี้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะมีความชัดเจน


กำลังโหลดความคิดเห็น