xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ผวาสงครามการค้าระอุ! เกาะติดถกซัมมิต G20 ลุ้น ครม.ใหม่เร่งรับมือ ศก.ชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ส.อ.ท.เกาะติดเวทีประชุมซัมมิต G20 ที่ญี่ปุ่นปลายเดือนนี้ หลังสรัฐฯ ขู่ขึ้นภาษีจีนที่เหลืออีก ชี้หากเป็นจริงสงครามการค้าเดือดแน่ หวัง ครม.ใหม่เร่งคลอดโดยเร็ว แนะเร่งรับมือ ศก.ชะลอ เร่งกระจายรายได้รับมือ หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.กำลังติดตามใกล้ชิดถึงการประชุมสุดยอดผู้นำของกลุ่ม G20 (ซัมมิต G20) จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่าหากนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ไม่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ สหรัฐฯ เตรียมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเพิ่มอีกขั้นต่ำมูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐทันที หากมีการขึ้นจริงสงครามการค้าจะตึงเครียดและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ขณะนี้จึงต้องการเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อเร่งเข้ามาแก้ไขและรับมือภาวะเศรษฐกิจที่ปัจจุบันการส่งออกได้ส่งสัญญาณถึงผลกระทบจากสงครามการค้าไปแล้ว

“การส่งออก 4 เดือนแรกลดลง 1.86% เริ่มชัดเจนแล้วว่าได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม และหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่จะครอบคลุมสินค้าทั้งหมดจะยิ่งหนักขึ้น เราคงต้องติดตามใกล้ชิด ดังนั้น การฟอร์มทีมรัฐบาลเสร็จเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพราะปัญหาข้างหน้ารอเราอยู่เพราะขณะนี้เมื่อไม่มีรัฐบาลการขับเคลื่อนงานต่างๆ ก็ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม โฉมหน้ารัฐมนตรีของรัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจนั้น เอกชนต้องการให้มีการทำงานเป็นทีมเดียวกันซึ่งก็ยังกังวลเพราะในอดีตขึ้นตรงต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่ภายใต้รัฐบาลใหม่กระทรวงเศรษฐกิจบางส่วนถูกกระจายไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจึงต้องการให้มีกลไกการทำงานที่เป็นทีมเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆ ที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนที่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขเร่งด่วน คือ การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการยกระดับราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ทั้งข้าว น้ำตาล ปาล์ม ยางพารา ที่ผ่านมาราคาสินค้าเหล่านี้ตกต่ำต่อเนื่องทำให้รายได้ของเกษตรกรลดต่ำลง และส่งผลให้เกิดภาระหนี้สินซึ่งสะท้อนจากล่าสุดที่ไทยมีหนี้สินภาคครัวเรือนต่อจีดีพีติดอันดับ 10 ของโลกจาก 89 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลใหม่ต้องเร่งกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน

“นโยบายค่าแรงที่หลายพรรคชูหาเสียงไว้ที่ระบุจะขึ้นค่าแรงระดับ 400 กว่าบาทขึ้นไปโดยเฉลี่ย ส.อ.ท.มีจุดยืนว่าขึ้นได้ แต่ขอให้เป็นการขึ้นตามระดับฝีมือแรงงาน และไม่ใช่ขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ เพราะขณะนี้สินค้าที่ผลิตเหมือนกัน ต้องยอมรับว่าโรงงานเอสเอ็มอีไทยลำบากขึ้นเพราะค่าแรงไทยแพงกว่าทำให้สู้ไม่ได้” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น