สมาคมผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เตรียมยื่นหนังสือถึง รมว.พลังงานคนใหม่คุมราคา NGV ให้อยู่ในระดับ 50% ของราคาดีเซล โดยใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯอุดหนุนระยะแรกหวังที่ 2 บาทต่อ กก. หลังรัฐลอยตัวทำราคาสูง คนไม่ใช้ ขาดทุนหนักต้องทยอยปิดสถานีบริการต่อเนื่อง
นายศักดิ์ชัย ลีสวรรค์ นายกสมาคมผู้ประกอบการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เปิดเผยว่า สมาคมฯเตรียมยื่นหนังสือต่อภาครัฐให้ควบคุมราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) จากปัจจุบันที่มีราคาอยู่ที่ 15.94 บาท/กิโลกรัม โดยคต้องการให้ราคาอยู่ในระดับ 50% ของราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 25 บาท/ลิตร จากที่ขณะนี้ราคาก๊าซ NGV ปรับตัวขึ้นไปกว่า 70-80% ของราคาน้ำมันดีเซลทำให้ไม่จูงใจการใช้จากประชาชนและภาคขนส่งทำให้การใช้ NGV ลดลงต่อเนื่องและผู้ประกอบการต้องประสบภาวะการขาดทุนอย่างหนักต้องปิดสถานีบริการ NGV ไปแล้วกว่า 60 แห่งจากเดิมที่มี 500 แห่งและคาดว่าจะปิดเพิ่มอีกในปีนี้
“รอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่มาเราคงจะเข้าไปหารือว่าจะคุมราคา NGV อย่างไรให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้เริ่มต้นชดเชยที่ 2 บาท/กิโลกรัมก่อน ซึ่งการจัดตั้งสมาคมขึ้นก็เพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้แก่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยหากเป็นไปได้อยากให้ภาครัฐตรึงราคาก๊าซธรรมชาติ NGV ไว้ในระดับปัจจุบันที่ 15.94 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ยังจะเสนอมาตรการสนับสนุนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การลดภาษีนำเข้าของรถบรรทุกก๊าซธรรมชาติ ให้ราคาถูกลงเทียบเท่ากับรถบรรทุกดีเซล เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการใช้ NGV เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น” นายศักดิ์ชัยกล่าว
นายจักรพงส์ สุมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ มีเป้าหมายที่จะทำหนังสือไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ให้กลับมาดูในเรื่องของ NGV และหามาตรการสนับสนุน โดยเสนอให้ใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการดูแลโดยต้องระยะแรกอยากให้อุดหนุน 2 บาทต่อ กก.ก่อนแล้วจึงทยอยปรับการอุดหนุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ราคาต่ำกว่าดีเซลครึ่งหนึ่งซึ่งอาจต้องมีกลไกอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น เรื่องภาษีฯ
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมกับพันธมิตรจัดตั้งสมาคมฯ ขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการประกอบการธุรกิจก๊าซธรรมชาติให้แข็งแกร่งและมีจุดยืนที่สำคัญในประเทศไทย เพราะก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศที่จะสามารถสนับสนุนให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านคมนาคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 และจะช่วยกันผลักดันให้ NGV เป็นเชื้อเพลิงแห่งชาติ มีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ ภาคส่วน