xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนอีกยาว! ตั๋วร่วม EMV ขยับเป็น ก.ย. 63-รฟม.เร่งกรุงไทยทำระบบหลังบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตั๋วร่วม EMV เลื่อนยาวอีกกว่า 1 ปี รฟม.ปรับแผนใหม่หลังเจรจาเงื่อนไขกับกรุงไทยยืดเยื้อ ขีดเส้นต้องพัฒนาระบบหลังบ้านเป็น แมงมุมเวอร์ชัน 4.0 เปิดใช้ ก.ย. 63 รฟม.ชงบอร์ด 21 มิ.ย.เร่งเซ็น MOU เคาะค่าธรรมเนียม 0.8% โดยแบ่งให้แบงก์ผู้ออกบัตร 0.3%

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมว่า ขณะนี้การเจรจาเงื่อนไขรายละเอียดกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาตั๋วร่วมจากระบบ 2.0 (ระบบปิด) เป็น 4.0 (ระบบเปิด) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ได้ข้อสรุปแล้ว โดยล่าสุด นายผยง ศรีวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กรุงไทยได้อนุมัติแล้ว ดังนั้น ในส่วนของ รฟม.จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ที่มี นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย เป็นประธาน ในวันที่ 21 มิ.ย. เพื่อขออนุมัติ และเตรียมลงนามใน MOU กับกรุงไทยในการพัฒนาระบบในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ หลังจากมอบหมายให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วม 4.0 ได้มีการเจรจาเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งยังมีข้อขัดข้องอยู่บ้าง ล่าสุด รฟม.จึงต้องปรับแผนกำหนดเป้าหมายให้เปิดใช้จากเดือน ธ.ค. 2562 ออกไปเป็นเดือน ก.ย. 2563 ซึ่งหากยังสรุปไม่ได้ รฟม.อาจจะต้องดำเนินการเองเพื่อไม่ให้ล่าช้าไปกว่านี้ ซึ่งค่าพัฒนาระบบมีวงเงินรวมที่ 800 ล้านบาท

“ล่าสุดเคลียร์กันได้หมดแล้ว เช่น ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมต่างๆ ทั้งในส่วนของกรุงไทยในฐานะผู้พัฒนาระบบหลังบ้าน, ธนาคารผู้ออกบัตร เนื่องจากเป็นระบบเปิดมีมาตรฐานกลาง ซึ่งทุกธนาคารที่มี Visa/Master สามารถออกบัตรได้”

ส่วนการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Connect Ticket Company: CTC) ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม และบทบาทหน้าที่ เนื่องจากจากเดิมตั๋วร่วมระบบปิดเป็นระบบเติมเงิน ต้องดูแลรักษาเงินในบัตร ส่วนธุรกรรมระบบหลังบ้านของตั๋วร่วม 4.0 ใช้ผ่าน Visa/Master ซึ่งแตกต่างจากเดิม ทำให้ค่าบริหารจัดการลดลงมาก อีกทั้งไม่ต้องทำหน้าที่ในการจำหน่ายบัตร หรือทำการตลาด เมื่อบทบาทหน้าที่และค่าใช้จ่ายลดลง จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุน หรือบริษัทลูก แต่อาจเป็นแค่เพียงหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ภายใน รฟม.

รายงานข่าวแจ้งว่า การพัฒนาระบบตั๋วร่วมจากแมงมุม เวอร์ชัน 2.0 ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) เป็นแมงมุม 4.0 ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ใช้เวลา14 เดือนแต่ยังไม่มีความคืบหน้า ล่าสุด นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และเร่งรัด รฟม.จัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม, แผนการดำเนินการระบบตั๋วร่วม, มาตรฐานกลางของระบบตั๋วร่วม รวมทั้งเงื่อนไขและร่างข้อตกลงทางธุรกิจ รวมถึงแนวทางการคิดอัตราค่าโดยสาร

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมการใช้บัตรระบบตั๋วร่วมต่อ 1 ธุรกรรม ซึ่งคิดจากยอดค่าโดยสารร่วม โดยคิดอัตราค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวที่ 0.8% รายได้นี้จะแบ่งให้ธนาคารเจ้าของบัตร (ธราคารผู้ออกบัตร) ที่ผู้โดยสารใช้ อัตรา 0.3% และอีกส่วนเป็นของกรุงไทยในฐานะผู้พัฒนาระบบหลังบ้าน อัตรา 0.38% ส่วน รฟม.ได้ 0.12% ซึ่งหากผู้โดยสารใช้บัตรของกรุงไทย เท่ากับกรุงไทยจะได้ส่วนแบ่งถึง 0.68%


กำลังโหลดความคิดเห็น