ปตท.ยันไม่ล้มแผนผุดโรงงานยารักษามะเร็ง เพียงรอองค์การเภสัชกรรมส่งเรื่องมาก็พร้อมลุยก่อสร้างโดยเร็ว หวังคนไทยเข้าถึงยาในราคาที่ถูก ส่วนรูปแบบความร่วมมือยังไม่สรุป
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ นวัตกรรมและดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าความร่วมมือระหว่าง ปตท.กับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งว่า ขณะนี้องค์การเภสัชฯ อยู่ระหว่างการทบทวนพิจารณารายละเอียดอยู่หลังจากมีความกังวลความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่ง ปตท.ก็รอข้อสรุปขององค์การเภสัชฯ อยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ หลังจากนั้นทาง ปตท.เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งให้ เนื่องจาก ปตท.มีความชำนาญเรื่องการบริหารจัดการโรงงาน
ส่วนรูปแบบความร่วมมือกันระหว่างองค์การเภสัชฯ กับ ปตท.นั้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นการร่วมลงทุน หรือให้ ปตท.เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษามะเร็งไปก่อน แล้วเมื่อโรงงานผลิตยาออกจำหน่ายได้ก็ให้องค์การเภสัชฯ นำรายได้ดังกล่าวมาชำระคืนค่าก่อสร้างให้ ปตท.ในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การเภสัชฯ มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ อย่างไรก็ตาม รูปแบบความร่วมมือดังกล่าวจะมีความชัดเจนได้หลังจากองค์การเภสัชฯ ได้ข้อสรุปการตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งชนิดใดบ้าง
“ปตท.ร่วมมือกับองค์การเภสัชฯ ตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็งนั้นเพื่อต้องการช่วยชาติให้มียารักษาโรคมะเร็งเพื่อใช้เอง ซึ่งจะมีราคาถูกกว่ายานำเข้าถึง 50% ซึ่ง ปตท.ไม่ได้มุ่งหวังเข้าไปทำธุรกิจยารักษามะเร็งเพื่อแข่งขันแต่อย่างใด ส่วนโรงงานผลิตยารักษามะเร็งได้เมื่อใดคงต้องขึ้นกับองค์การเภสัชฯ ว่าจะตัดสินใจได้เมื่อไร ซึ่งถ้ามีการตั้งโรงงานได้เร็วก็จะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยได้มากขึ้น และยังทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ”
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าโครงการความร่วมมือดังกล่าวคงจะไม่ยกเลิก แต่อาจจะล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) ทำให้มีความต้องการใช้ยาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากต้องนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจำนวนมากในราคาสูงจะมีผลกระทบต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคได้ ซึ่งยารักษามะเร็งเป็นยายุทธศาสตร์ชาติที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาได้ โดย ปตท.เองก็ต้องการเข้าไปช่วยโดยไม่มุ่งหวังผลกำไร เพราะถ้าตั้งโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นในประเทศต้นทุนยาจะถูกกว่ายานำเข้าถึง 50%
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2561 องค์การเภสัชกรรมร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการดังกล่าว โดยองค์การเภสัชฯ มีเป้าหมายมุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต 3 ชนิด คือ 1. ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีดที่เป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย 2. ยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) ครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน และ 3. ยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง เบื้องต้นคาดว่าโรงงานผลิตรักษาโรคมะเร็งจะลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายจะเริ่มผลิตยาได้เองในประเทศประมาณปี 2568 ซึ่งปัจจุบันมูลค่าตลาดยาในประเทศมีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง 70% เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ