การตลาด - วิเคราะห์ ทำไมทรูวิชั่นส์พร้อมทุ่มงบกว่า 8,000 ล้านบาทเพื่อยึดพรีเมียร์ลีกไว้แนบอก หลังเทคโนโลยีมาแรง พฤติกรรมผู้ชมเอาใจยาก คู่แข่งรุมทึ้งรอบด้าน นาทีนี้คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ-เฟิร์สรัน อนาคตเพย์ทีวี ล่าสุดใช้เวลาเพียง 3 เดือนซิวคว้าสิทธิ์ถ่ายสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาล 2019/20-2021/22 แบบออลไรต์ พร้อมเจรจาแบบด่วนจี๋เลือกพีพีทีวีเป็นฟรีทีวีร่วมถ่ายสด 26-30 คู่ เต็มโควตา เชื่อจบเกมปีนี้ทรูวิชั่นส์ลุ้นโตไม่ต่ำกว่า 10% จากรายได้ 13,300 ล้านบาทปีก่อน
เป็นไปตามคาดที่ทางทรูวิชั่นส์ได้คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาล 2019/20-2021/22 แบบออลไรต์ ไปแทนเฟซบุ๊ก ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือน นับตั้งแต่เฟซบุ๊กทำดีลนี้หลุดมือไปเมื่อต้นเดือน มี.คที่ผ่านมา และทางทรูวิชั่นส์ได้สิทธิ์นี้ไปแทนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งแตกต่างจากทางเฟซบุ๊กที่เจรจากับต้นสังกัดพรีเมียร์ลีกมาเป็นปีๆ กับเม็ดเงินในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนั้นที่ว่ากันว่าสูงถึง 200 ล้านปอนด์ หรือราว 8,800 ล้านบาท กับอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่กระบวนการเพื่อค้นหาผู้ได้ลิขสิทธิ์รายใหม่แทน กลับพบว่าเวลากลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะกระชั้นชิดเกินไปกับเวลาเพียง 5 เดือนนับจากต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนถึงช่วงการแข่งขันฤดูกาลใหม่ 2019/20 ในเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งในความเป็นจริงเวลาเพียงแค่นี้ไม่เพียงพอในการทำการตลาด เวลาจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่ามูลค่าที่ทางทรูวิชั่นส์ได้ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์ครั้งนี้จะถูกลงกว่าเดิม แต่อาจจะไม่มากนัก โดยจะต้องเป็นราคาที่อยู่บนพื้นฐานกลไกราคาลิขสิทธิ์ของพรีเมียร์ลีกด้วย
จากเงื่อนไขของเวลานี่เอง ส่งผลให้ทรูวิชั่นส์มีทางเลือกในมือไม่มากนักในการบริหารจัดการลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่ได้มา ซึ่งจะต้องทำให้คุ้มค่ามากที่สุด ส่งผลให้ทรูวิชั่นส์พร้อมเจรจาและเลือกให้ช่องฟรีทีวี คือช่อง PPTV ร่วมถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทั้ง 3 ฤดูกาล ตั้งแต่ปี 2019/20-2021/22 โดยที่ดีลนี้พบว่าได้มีการเจรจาจบอย่างไม่เป็นทางการช่วงเวลาเดียวกับที่ทรูวิชั่นส์ได้สิทธิ์พรีเมียร์ลีกไป เบื้องต้นช่อง PPTV จะได้สิทธิ์ร่วมถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกที่ 26 แมตช์ต่อฤดูกาลเท่ากับที่เคยได้สิทธิ์มาในครั้งก่อน เงื่อนไขนี้เป็นไปตามต้นสังกัดพรีเมียร์ลีกที่ต้องการให้ฟรีทีวีร่วมถ่ายทอดสดไม่เกิน 30 แมตช์ต่อฤดูกาล
ทั้งนี้ จากเดิมที่มองกันไว้ว่าถ้าทรูวิชั่นส์ได้สิทธิ์พรีเมียร์ลีกไป ช่องทรู 4U ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน จะเป็นช่องฟรีทีวีที่จะได้ร่วมถ่ายทอดสดอย่างแน่นอน แต่กลายเป็นว่าทรูวิชั่นส์ยอมขายสิทธิ์นี้ให้กับทางช่อง PPTV ไปทั้งหมดแต่เพียงช่องเดียว นี่จึงอาจเป็นอีก 1 วิธีที่จะช่วยให้ทรูวิชั่นส์คุ้มทุนกับการซื้อลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้ดีกว่าการให้สิทธิ์ร่วมถ่ายทอดสดกับช่องในเครือตัวเอง แต่ใครจะรู้ สุดท้ายแล้วช่องทรู 4U อาจจะได้ร่วมถ่ายทอดสดในบางคู่ที่เป็นคู่สำคัญที่แข่งในเวลาเดียวกันกับที่ทางช่อง PPTV ถ่ายทอดสดก็เป็นไปได้
สำหรับช่อง PPTV ที่ได้สิทธิ์ร่วมถ่ายทอดสดครั้งนี้ ก็ต้องทำการตลาดหาสปอนเซอร์เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นลูกค้ารายเดิมที่เคยตกลงกันไว้ในครั้งก่อน กับ 3 ฤดูกาล 2016/17-2018/19 ที่ผ่านมา กับสปอนเซอร์ทั้งหมด 8 ราย คือ วาสลีน เมน, เคลียร์ เมน, การ์นิเย่ เมน, ไทยนครพัฒนา, โตโยต้า อัลติส, แว็กซี่, มิซูบิชิ ออลนิว ปาเจโร่ และเอไอเอส แบ่งเป็นเมนสปอนเซอร์ 5 ราย ราคาแพกเกจละ 20 ล้านบาท และสปอนเซอร์รองอีก 3 ราย แพกเกจละ 10-15 ล้านบาท และในครั้งนี้เชื่อว่าช่อง PPTV จะมีรายได้จากสปอนเซอร์ใกล้เคียงกันที่ 150-200 ล้านบาท
ส่วนทรูวิชั่นส์เอง กับเวลาเหลือไม่ถึง 2 เดือนระหว่างนี้จะต้องเร่งทำงานอย่างเต็มที่ในการบริหารสิทธิ์พรีเมียร์ลีกที่ได้มา ไม่ว่าจะเป็นการหาสปอนเซอร์ รวมถึงอาจจะมีแพกเกจการรับชมพรีเมียร์ลีกใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นบนแพลตฟอร์มทรูวิชั่นส์ หรือกับทางทรูไอดี เป็นต้น
ทำไมทรูวิชั่นส์ต้องทุ่มซื้อพรีเมียร์ลีก?
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทรูวิชั่นส์เป็นที่รู้จักและเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจเพย์ทีวีได้นั้น มาจากการนำเสนอคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟระดับโลกที่ไม่สามารถหาชมได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนต์กีฬา ซีรีส์ ภาพยนตร์ การ์ตูน และสารคดี มาพร้อมกับภาพและเสียงที่คมชัด สำคัญที่สุดคือไม่มีโฆษณา โดยเฉพาะคอนเทนต์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ถือเป็นคอนเทนต์ที่มีราคาแพงที่สุด และสมกับเป็นคอนเทนต์เบอร์หนึ่งที่ทำให้ทรูวิชั่นส์มีฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี นี่จึงเป็นคำตอบว่า ทำไมทรูวิชั่นส์ต้องทุ่มทุนซื้อพรีเมียร์ลีกมาครอบครองให้ได้
แต่วันนี้ไม่เหมือนวันนั้น ปัจจุบันธุรกิจเพย์ทีวีไม่ได้สดใสอย่างที่ผ่านมา จากเดิมที่ไม่มีคู่แข่ง ไม่มีปัจจัยลบรุมเร้า ตอนนี้กลับหืดขึ้นคอ หลังการมาของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น โลกออนไลน์เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้บริโภคแบบเรียลไทม์ ก่อให้เกิดบริการคอนเทนต์ให้รับชมหลากหลายแพลตฟอร์ม ผู้ชมเข้าถึงคอนเทนต์ได้ง่ายขึ้น และมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้น ที่สำคัญคือ ดูฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกจริตคนไทย เพราะชินกับการดูฟรี ไม่ว่าจะเป็น ไลน์ทีวี ยูทูป หรือแพลตฟอร์ม OTT อย่าง ไอฟลิกซ์ เน็ตฟลิกซ์ เป็นต้น เพย์ทีวีจึงไม่ใช่คำตอบแรกในการรับชมคอนเท้นท์คุณภาพอีกต่อไป
เอ็กซ์คลูซีฟ-เฟิร์สรัน อนาคตเพย์ทีวี
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ารูปแบบการให้บริการคอนเทนต์บนแพลทฟอร์มต่างๆ เมื่อเทียบกับเพย์ทีวีอย่างทรูวิชั่นส์แล้วไม่ได้แตกต่างกัน เพราะส่วนใหญ่จัดเป็นคอนเทนต์รีรันที่ผู้ชมสามารถจะเลือกชมทีหลังเวลาใดก็ได้ ขณะที่คู่แข่งให้ดูฟรี แต่ทรูวิชั่นส์ต้องเสียเงินดู ส่งผลให้ทรูวิชั่นส์ในวันนี้จะต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ส่วนหลัก คือ
1. คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ-เฟิร์สรัน ถือเป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนเพย์ทีวีอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมทรูวิชั่นส์จึงพร้อมทุ่มงบเกือบ 8,000 ล้านบาทในการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาลล่าสุดครั้งนี้มาครอง เพราะพรีเมียร์ลีกมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ หมายถึงคนไทยจะดูได้ครบทุกแมตช์ตลอดฤดูกาลที่ทางทรูวิชั่นส์ช่องทางเดียวเท่านั้น และความเป็นเฟิร์สรัน คือ เป็นการถ่ายทอดสด ซึ่งพรีเมียร์ลีกเป็นคอนเทนต์ที่ต้องดูสดเท่านั้นถึงจะได้อรรถรสมากสุด ถึงแม้จะมีราคาสูงแต่ก็คุ้มที่ต้องจ่าย
นอกจากพรีเมียร์ลีก อังกฤษแล้ว ทรูวิชั่นส์ยังมีการถ่ายทอดสดกีฬาอื่นๆ ที่คนไทยสนใจและสามารถรับชมได้เฉพาะที่ทรูวิชั่นส์เท่านั้น เช่น ไทยลีก และไม่ใช่มีเพียงแต่คอนเทนต์กีฬา ยังรวมถึงซีรีส์ ภาพยนตร์ วาไรตี ที่ทางกลุ่มทรูเองกำลังลงทุนผลิตขึ้นมา รวมถึงมองหาช่องทีวีใหม่ๆ ที่มีคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟแบบเฟิร์สรันเข้ามาเพิ่มในแพลตฟอร์มทรูวิชั่นส์มากขึ้น จากที่แต่ละปีทรูวิชั่นส์จะใช้งบราว 1,000-1,500 ล้านบาทในการลงทุนและซื้อคอนเทนต์ และก่อนหน้าที่จะเสียพรีเมียร์ลีกให้ CTH ไป เคยใช้งบมากกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปี
2. แพกเกจการรับชมที่หลากหลายขึ้น การสร้างแพกเกจใหม่ๆ เจาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่จะช่วยให้ทรูวิชั่นส์มีฐานสมาชิกและรายได้เพิ่มขึ้น จากข้อมูลอัปเดตล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2562 พบว่าทรูวิชั่นส์มีแพกเกจรับชมกว่า 10 แพกเกจ คือ 1. Platinum HDแพกเกจ 2. Gold HD แพกเกจ 3. Super Family แพกเกจ 4. Sports Family แพกเกจ 5. Smart Family แพกเกจ 6. Happy Family HD แพกเกจ 7. แพกเกจเสริม Super Soccer Pack 8. Hotel Plus แพกเกจ 9. Enjoy Pack และ10.Basic HD (ที่มา : http://www.truevisions.info/ช่องรายการทรู)
3. บริการใหม่ๆ ต่อยอดสร้างรายได้ ซึ่งทางทรูวิชั่นส์เล็งเห็นโอกาสในการเติบโตจาก OTT และดิจิทัลแพลตฟอร์ม “ทรูไอดี” ด้วยบริการอินเตอร์แอ็กทีฟและการสร้างรายได้จากคอนเทนต์ อีกทั้งยังมองโอกาสการเติบโตจากธุรกิจผลิตคอนเทนต์สนับสนุนผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลก เพื่อรองรับทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ และยังเพิ่มโอกาสในการเติบโตของรายได้ให้กับทรูวิชั่นส์
การสร้างโอกาสและเน้นกลยุทธ์คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ-เฟิร์สรัน กับการได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 ฤดูกาลครั้งใหม่นี้ คาดการณ์ว่าถึงสิ้นปีนี้ทรูวิชั่นส์น่าจะมีรายได้เติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% จากที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รายงานว่าสิ้นปี 2561 ทรูวิชั่นส์มีรายได้ 13,300 ล้านบาท โตจากปีก่อนหน้า 8.7% และมีฐานสมาชิกรวมกว่า 4.1 ล้านราย การเติบโตนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ของธุรกิจบันเทิง รวมถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งไม่เพียงเพิ่มรายได้ แต่ยังส่งผลให้ฐานผู้ใช้แอปพลิเคชันทรูไอดีเติบโตขึ้นอย่างมีนัย
สอดคล้องกับการคาดการณ์ถึงอนาคตของเพย์ทีวีที่จะก้าวต่อไปนั้น ต้องพึ่งพาคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟและเฟิร์สรันเป็นสำคัญ