xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ชงบอร์ด 27 มิ.ย. เคาะเซ็นรับเหมาตอกเข็ม “ด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทพ.ชงบอร์ด 27 มิ.ย.เคาะผลประมูลทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง คาดเซ็นรับเหมา 4 สัญญาใน ก.ย. เร่งเบิกจ่ายเงิน TFF งวดแรกกว่า 2 พันล้าน ส่วนงานระบบกว่า 870 ล้านกลับลำชะลอประมูล รอเลือกเทคโนโลยีใหม่ที่ถูกลง

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการประมูลก่อสร้างโครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กม. งานโยธา จำนวน 4 สัญญา วงเงินรวม 29,154.230 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการคัดเลือกได้สรุปผลการประมูลเตรียมเสนอบอร์ด กทพ.อนุมัติในวันที่ 27 มิ.ย. ส่วนกรณีที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ยื่นร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติเกี่ยวกับผลงานของผู้รับเหมาจีนนั้น ได้มีการชี้แจงไปแล้วแม้ว่าจะเป็นการยื่นร้องเรียนก่อนที่ระเบียบกำหนด เนื่องจากจะต้องยื่นอุทธรณ์หลังบอร์ดอนุมัติ และประกาศผลประมูลแล้ว โดยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งต้องรอหลังประกาศผลว่าจะมีการอุทธรณ์กันอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ตามระเบียบ กรณีอุทธรณ์จะมีกำหนดเวลาชัดเจน ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่ยืดเยื้อและสามารถลงนามกับผู้ชนะประมูลทั้ง 4 สัญญาได้ภายในเดือน ก.ย. 2562 ซึ่ง กทพ.จำเป็นต้องเร่งรัดลงนามเพื่อเบิกจ่ายเงินค่างานงวดแรก 15% ของสัญญารวมประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) หรือ TFF มีจำนวน 44,811 ล้านบาท

ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบควบคุมและการจัดเก็บค่าผ่านทางวงเงิน 877.4 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนประมูล โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ขณะนี้มีแนวคิดอาจจะชะลอการประมูลไปก่อน เนื่องจากระบบจะเริ่มติดตั้งก่อนที่งานโยธาจะเสร็จประมาณ 2 ปี จึงเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องเร่งประมูล เพื่อพิจารณาระบบที่เหมาะสมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประโยชน์มากที่สุด

“เรื่องสัญญาระบบอาจจะชะลอการประมูลออกไปก่อน เนื่องจากยังมีเวลารอในช่วงการก่อสร้างงานโยธา ซึ่งในช่วงนั้นจะมีโอกาสในการพิจารณาเทคนิคที่ทันสมัยมากขึ้น และอาจจะมีราคาที่ถูกลง ซึ่งเรื่องนี้จะหารือในบอร์ดด้วย เพราะตอนนี้เปิดประมูลแล้วแต่ยังไม่ได้ประกาศผล”

สำหรับผลการเปิดซองข้อเสนอด้านราคา สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กม. ราคากลาง 6,980 ล้านบาท ทางยกระดับ กิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วย บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 5,897 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม. ราคากลาง 7,242 ล้านบาท ทางยกระดับ กิจการร่วมค้าซีทีบี ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง เสนอราคาต่ำสุดที่ 6,440 ล้านบาท

สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม. ราคากลาง 6,991 ล้านบาท. กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ประกอบด้วย บริษัท China Railway 11 th Bureau Group Corporaton, บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนอราคาต่ำสุด 6,098 ล้านบาท

สัญญาที่ 4 ระยะทาง 2 กม. ราคากลาง 7,944 ล้านบาท เป็นงานก่อสร้างสะพานขึงคู่ขนาน บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุด 6,636.19 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น