ผู้จัดการรายวัน 360 - ตลาดงบโฆษณาเดือนพฤษภาคม 62 ลดลง 2% กระทบภาพรวม 5 เดือนแรกตลาดรวมยังคงตกลง 1.25% หรือมีมูลค่า 41,651 ล้านบาท แต่ละสื่อร่วงระนาว มีเพียงสื่อทีวี-สื่อกลางแจ้งที่เติบโตเล็กน้อย
รายงานจากบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ตลาดงบโฆษณาเดือนพฤษภาคม 2562 เดือนเดียวมีมูลค่า 8,789 ล้านบาท ตกลง 2.11% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปี 2561 มีมูลค่า 8,978 ล้านบาท โดยมี 2 สื่อเท่านั้นที่เติบโตคือ สื่อทีวี มูลค่า 5,728 ล้านบาท เติบโต 0.35% จากเดิม มูลค่า 5,708 ล้านบาท, สื่อกลางแจ้ง มูลค่า 565 ล้านบาท เติบโต 1.44% จากเดิมมูลค่า 557 ล้านบาท และสื่ออินสโตร์ มูลค่า 93 ล้านบาท เท่าเดิม
นอกจากนั้นเป็นสื่อที่มีการลดลงทั้งหมดคือ สื่อเคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 200 ล้านบาท ตกลง 11.89% จากเดิม มูลค่า 227 ล้านบาท, สื่อวิทยุ มูลค่า 354 ล้านบาท ตกลง 9.92% จากเดิมมูลค่า 393 ล้านบาท, สื่อหนังสือพิมพ์ มูลค่า 475 ล้านบาท ตกลง 1.665 จากเดิมมูลค่า 483 ล้านบาท, สื่อนิตยสาร มูลค่า 81 ล้านบาท ตกลง 23.58% จากเดิมมูลค่า 106 ล้านบาท, สื่อโรงหนัง มูลค่า 664 ล้านบาท ตกลง 11.47% จากเดิม มูลค่า 750 ล้านบาท, สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 483 ล้านบาท ตกลง 4.17% จากเดิมมูลค่า 504 ล้านบาท ส่วนสื่อดิจิทัล มูลค่า 146 ล้านบาท แต่ไม่มีตัวเลขของเดือน พ.ค.ในปีนี้
สำหรับงบโฆษณารวม ช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2562 มีมูลค่า 41,651 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีมูลค่า 42,177 ล้านบาท ตกลง 1.25% โดยแยกเป็นรายสื่อคือ สื่อทีวี มูลค่า 27,150 ล้านบาท เติบโต 0.87% จากเดมมูลค่า 26,916 ล้านบาท, สื่อเคเบิลทีวี/ทีวีดาวเทียม มูลค่า 901 ล้านบาท ตกลง 11.67% จากเดิมมูลค่า 1,020 ล้านบาท , สื่อวิทยุ มูลค่า 1,758 ล้านบาท ตกลง 4.87% จากเดิม มูลค่า 1,848 ล้านบาท, สื่อหนังสือพิมพ์ มูลค่า 1,990 ล้านบาท ตกลง 16.67% จากเดิม มูลค่า 2,388 ล้านบาท
สื่อนิตยสาร มูลค่า 423 ล้านบาท ตกลง 22.95% จากเดิม มูลค่า 549 ล้านบาท, สื่อโรงหนัง มูลค่า 3,055 ล้านบาท ตกลง 3.75% จากเดิมมูลค่า 3,174 ล้านบาท, สื่อกลางแจ้ง มูลค่า 2,762 ล้านบาท เติบโต 0.18% จากเดิม มูลค่า 2,757 ล้านบาท, สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 2,596 ล้านบาท เติบโต 5.49% จากเดิม มูลค่า 2,461 ล้านบาท, สื่ออินสโตร์ มูลค่า 417 ล้านบาท ตกลง 2.80% จากเดิม มูลค่า 429 ล้านบาท และ สื่อดิจิทัล มูลค่า 599 ล้านบาท แต่ไม่มีตัวเลขของช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
ส่วน 3 อันดับบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือนพฤษภาคม 2562 คือ 1. ยูนิลีเวอร์ ใช้งบ 323 ล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ใช้ 341 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี ใช้งบ 215 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 206 ล้านบาท และ 3. อันโนว์ไดเร็คเซล ใช้งบ 186 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้แค่ 13 ล้านบาท
ขณะที่ 3 อันดับบริษัทใช้งบโฆษณาสูงสุด ช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 คือ 1. ยูนิลีเวอร์ ใช้งบ 1,258 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ใช้ 1,636 ล้านบาท 2. พีแอนด์จี ใช้งบ 1,092 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 910 ล้านบาท และ 3. อันโนว์ ไดเร็คเซล ใช้งบ 777 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 40 ล้านบาท
สำหรับ 3 อันดับแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดเดือนพฤษภาคม 2562 คือ 1. สนุกชอปปิงไดเร็คเซล ใช้งบ 102 ล้านบาท จากเดิมไม่ได้ใช้ 2. ทีวีไดเร็คเซล ใช้งบ 99 ล้านบาท ลดจากเดิมที่ใช้ถึง 234 ล้านบาท และ 3. โค้ก ใช้งบ 96 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้ 68 ล้านบาท
ส่วน 3 อันดับแบรนด์สินค้าที่ใช้งบโฆษณาสูงสุดช่วง 5 เดือนแรกปี 2562 คือ 1. ทีวีไดเร็คเซล ใช้งบ 648 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ใช้มากถึง 1,106 ล้านบาท 2. สนุกชอปปิงไดเร็คเซล ใช้งบ 539 ล้านบาท จากเดิมไม่ได้ใช้ และ 3. โค้ก ใช้งบ 476 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่ใช้เพียง 372 ล้านบาท