“กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง” คาดคว้างานประมูลรับเหมาวิศวกรรมและระบบ (EPC) เพิ่ม3 พันล้านบาทในครึ่งปีหลังนี้ มั่นใจใน 3 ปีข้างหน้าชิงงาน EPC ของ กฟภ.ปีละ 10% ของมูลค่างาน เผยเตรียมเจรจาเข้ารับงานกราวดิ้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และหวังต่อยอดวางระบบไฟเบอร์ออปติกด้วย พร้อมทั้งรุกธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มในปีนี้ 100 เมกะวัตต์ รวมเป็น 700 เมกะวัตต์
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 62 บริษัทฯ จะเข้าประมูลงานรับเหมาวิศวกรรมและระบบ (EPC) มูลค่ารวมกว่า 6 พันล้านบาท ได้แก่โครงการติดตั้งระบบสายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine cable) เกาะสมุย มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท และโครงการระบบสายเคเบิลใต้น้ำ เกาะเต่า มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท และเกาะปันหยี 220 ล้านบาท รวมทั้งงานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้า งานสถานีไฟฟ้าย่อยและระบบสายส่งไฟฟ้าแรงดันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) รวมถึงงานติดตั้งสายไฟลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ด้วย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผลประมูลงานควบคุมระบบ SCADA แบบ TDMS ของ กฟภ.มูลค่า 1.2 พันล้านบาท คาดว่าจะประกาศผลประมูลในเดือน ก.ค. 62 โดยบริษัทวางเป้าหมายจะคว้างานประมูล EPC ราว 3 พันล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าได้งานประมูล EPC ราว 10% ของมูลค่าโครงการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเปิดประมูลเฉลี่ยปีละ 3 หมื่นล้านบาทตลอด 3 ปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีงาน EPC ในมือ (Backlog) ราว 7 พันล้านบาท คาดว่าในปีนี้บริษัทจะทยอยรับรู้รายได้งาน EPC ในมือราว 2 พันล้านบาท
นายสมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เตรียมเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) และพันธมิตรเพื่อรับงานระบบสายดิน (Grounding) ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง มูลค่างานราว 200-300 ล้านบาท และมองโอกาสรับงานต่อยอดติดตั้งระบบไฟเบอร์อปติกตามแนวเส้นทางรถไฟด้วย
น.ส.โศภชากล่าวว่า ในปีนี้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 700 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันนั้นมีกำลังการผลิตแล้ว 600 เมกะวัตต์ และมีโครงการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปีนี้ 100 เมกะวัตต์ คือ โรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มคิมิตสึ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น 40 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าที่มาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อปรูปแบบ Private PPA ราว 30 เมกะวัตต์ ล่าสุดบริษัทยื่นประมูลโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศมาเลเซีย ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ และเตรียมยื่นประมูลโครงการโซลาร์รูฟท็อปรูปแบบ Private PPA ในไทยราว 30 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม 50 เมกะวัตต์คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในไตรมาส3นี้ และมองโอกาสเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าที่ไต้หวัน ตั้งเป้าไว้ 200 เมกะวัตต์
ขณะที่การลงทุนธุรกิจ GRoof เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังงานที่พักที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ไฟฟ้าเองนั้น ปัจจุบันมีลูกค้าในมือแล้วกว่า 30 หลังคาเรือน คาดว่าปีนี้จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นถึง 100 หลังคาเรือน รวมกำลังการผลิต 500 กิโลวัตต์ ส่วนโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หากที่พักอาศัยต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อขายไฟกลับให้รัฐโดยไม่ได้ใช้ไฟในช่วงกลางวันเองนั้นไม่คุ้มการลงทุน