xs
xsm
sm
md
lg

PPTV ชิงท็อป 5! ทีวีดิจิทัลแข่งเดือด ทุ่มงบคอนเทนต์เกินหมื่นล้าน สวนทางเลือดไหลไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจาะลึกวิกฤตทีวีดิจิทัล 5 ปีมีแต่ทรุด เงินทุนดีแต่ไหลออกต่างประเทศ การใช้งบโฆษณาจริงดิ่งต่อเนื่อง เหตุคอนเทนต์ไม่โดนใจ คนไทยไม่ดู "พีพีทีวี" โชว์ศักยภาพอัดเม็ดเงินมากกว่า 1,000 ล้านพร้อมแข่งขัน สวนทางทีวีส่วนใหญ่เก็บตัวลดต้นทุน ครึ่งปีหลังเสิร์ฟละครชิงเรตติ้งไพรม์ไทม์หลังข่าว จากอันดับรั้งท้ายสู่เป้าหมายติดท็อป 5 พร้อมรายได้ปีนี้โตอีก 100%

"ธุรกิจทีวีวันนี้จะอยู่ได้ รายการมันต้องโดน คนถึงจะดู" เป็นคำกล่าวถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมทีวีในประเทศไทยของ นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ช่องพีพีทีวี 36 ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่ใครต่างก็ปฏิเสธได้ยาก เพราะเห็นจริงแล้วว่าหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจทีวีในวันนี้เป็นเรื่องของ คอนเทนต์ ล้วนๆ

ทีวีดิจิทัล 5 ปีที่ผ่านมามีแต่ทรุด
จะเห็นได้ว่ารูปแบบคอนเทนต์ในวันนี้กลับกลายเป็นว่าทีวีหลายๆ ช่องเลือกที่จะซื้อคอนเทนต์ราคาถูก ไม่ค่อยมีคุณภาพมากนัก หรือใช้วิธีรีรันของเก่า และผลิตรายการที่นึกถึงตัวเองมากกว่าผู้ชม ส่วนสำคัญเพื่อเป็นการลดต้นทุน และพยุงให้ทางสถานีโทรทัศน์ยังอยู่รอด ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีมีแต่คอนเทนต์รายการที่มีคุณภาพลดลง แต่กลับมีคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามามากกว่าผลิตเอง เงินที่ควรจะถูกหมุนเวียนในประเทศก็ไหลไปต่างประเทศแทน

"ตลอด 5 ปีของการเกิดของทีวีดิจิทัล ควรที่จะเป็นการช่วยอุตสาหกรรมทีวีให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 ราย และเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์ดีๆ แต่กลายเป็นว่า เมื่อเกิดความผิดพลาด จนหลายช่องต้องขอยกเลิกประกอบกิจการออกไป การจ้างงานก็กระทบไปด้วย อุตสาหกรรมที่ควรจะดีก็แย่ลง งบผลิตคอนเทนต์ถูกต่างชาติดูดไป เพราะหลายช่องเลือกที่จะซื้อคอนเทนต์ต่างชาติมาออกอากาศ ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์อินเดีย เกาหลี เพื่อลดต้นทุนแทน เพราะในความเป็นจริง ธุรกิจทีวีเป็นธุรกิจที่มีฟิกซ์คอสต์ (ต้นทุนคงที่) มีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะมีโฆษณาหรือไม่มีโฆษณาเข้ามาก็ตาม"

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าการแข่งขันที่ควรเกิดขึ้นจริงเพื่อให้อุตสาหกรรมทีวีพัฒนาไปข้างหน้า กลับเหมือนหยุดอยู่กับที่ รายการดีๆ ไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครกล้าลงทุน ช่องใหญ่เลือกที่จะขายคอนเทนต์รีรันเลี้ยงตัว บางช่องเลือกทำโฮมชอปปิ้งเลี้ยงช่องไม่ให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์ ดังนั้น เมื่อไม่มีใครคิดจะลงทุนกับคอนเทนต์ดีๆ คนดูก็เบื่อ ไม่ดูทีวี สุดท้ายเรตติ้งก็ไม่เกิด โฆษณาก็ไม่เข้า เป็นปัญหาตามมา เพราะ
"เราทำลายอุตสาหกรรมของกันและกัน ไม่ยอมปล่อยหมัดให้คนดูติดทีวี"

งบโฆษณาจริงหายวูบ 20%
ผลกระทบจากปัญหาของการเกิดทีวีดิจิทัลที่มองข้ามไม่ได้ คือ งบการใช้โฆษณาบนสื่อทีวี ที่จะเห็นได้ว่าช่วงหลังมานี้กลุ่มบริษัทที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด คือกลุ่มโฮมชอปปิ้ง ดูเหมือนจะเข้ามาอุ้มให้ทีวียังไปต่อได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้สะท้อนว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดีขึ้น เพราะเวลาที่กลุ่มนี้ซื้อโฆษณาจะมาในรูปแบบรายการ อีกทั้งบางช่องหันมาทำโฮมชอปปิ้งเองด้วย แต่กลับเป็นตัวเลขที่ปรากฏในรูปแบบซื้อโฆษณาซึ่งไม่ตรงกับสถานการณ์จริง


เมื่อเทียบกับก่อนที่จะมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น งบโฆษณาส่วนใหญ่มาจากกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์จากบริษัทต่างชาติ เช่น ยูนิลีเวอร์ โคคาโคลา ไบเออร์สดอร์ฟ คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ เป็นต้น เพราะฐานผู้บริโภคคนไทยเป็นกลุ่มคนระดับกลาง สินค้าเหล่านี้จึงต้องทำการตลาด โฆษณา เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งพออยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับไม่ใช่กลุ่มที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ได้ว่า อุตสาหกรรมโฆษณารวมไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างตัวเลขที่ปรากฏ


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ลดต้นทุน และหันมาทำการตลาดที่ง่ายต่อยอดขายมากขึ้น เช่น ผลิตชิ้นงานโฆษณาง่ายๆ ลงทุนไม่สูงมาก ทำการซอฟต์ลอนช์มากกว่าการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างยิ่งใหญ่ เน้นทำตลาด ณ จุดขายมากกว่าการใช้สื่อโฆษณา เป็นต้น ทำให้ชิ้นงานโฆษณาในวันนี้ไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนที่ผ่านมา บวกกับการมาของสื่ออื่นๆ ที่ทดแทนสื่อทีวี ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ลดงบการใช้สื่อโฆษณารวมลดลง หรือน่าจะหายไปกว่า 20%

ทีวีเน้นประคองตัว แม้หายไป 9 ช่อง
ในส่วนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ยังอยู่ 15 ช่อง หลังการยื่นขอคืนใบอนุญาต 7 ช่อง บวกของเดิมอีก 2 ช่อง หรือหายไปกว่า 9 ช่องในปีนี้ แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทีวีดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายและเน้นประคองตัว เพราะช่องที่หายไปไม่ได้ทำให้เม็ดเงินโฆษณาไหลไปที่ช่องอื่นมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นช่องที่ไม่ค่อยมีเรตติ้ง แต่อาจจะดีในแง่ผู้ชมที่มีตัวเลือกให้รับชมลดลง ที่สำคัญคนดูทีวีจะไม่ลดลงไปมากกว่านี้เพราะถึงจุดที่นิ่งแล้ว เพียงแต่จะสลับเปลี่ยนช่องทางการรับชมมากกว่าตามความสะดวกและพฤติกรรมการรับชม


ทั้งนี้ การที่หลายช่องที่อยู่ต่อ มองในแง่บวกเชื่อว่างบโฆษณาจะดีขึ้นตามตัวเลขการใช้งบโฆษณารวม แต่ทั้งนี้ต้องดูสัญญาณบวกจากกลุ่มคอนซูเมอร์โปรดักต์ด้วยว่าปีนี้จะมีการลงทุนออกสินค้าใหม่มากน้อยแค่ไหน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ดูหลังเลือกตั้งจะมีอะไรสนับสนุนมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้หลายๆ ช่องจะเพิ่มรายการใหม่ๆ มากขึ้น


อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน 360 พบว่าเม็ดเงินที่ทีวีดิจิทัลทุ่มให้กับคอนเทนต์ในปี 2562 นี้ คาดว่า 9 ช่องทีวีดิจิทัลใช้งบประมาณซื้อคอนเทนต์รวมกว่า 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. พีพีทีวี ใช้งบกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท
2. ช่องวัน ใช้งบ 2,000-2,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 30% จากปีที่แล้วที่ใช้ราว 1,800-2,000 ล้านบาท
3. เวิร์คพ้อยท์ทีวี ใช้งบ 600 ล้านบาท
4. โมโน 29 ใช้งบ 1,000-1,200 ล้านบาท
5. GMM25 ใช้งบ 600 ล้านบาท
6. ทรู4U ใช้งบ 1,000 ล้านบาท
7. ช่อง 8 ใช้งบ 1,000-1,500 ล้านบาท
8. ช่อง 9 ใช้งบ 700 ล้านบาท
9. ช่อง 3 คาดใช้งบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งแต่เดิมช่อง 3 เคยใช้งบปีละ 5,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากรายได้หายไป 5 เท่า งบก็น่าจะลดลงตามอัตราที่หายไป หรือน่าจะใช้เพียง 1,000-1,500 ล้านบาทในปี 2562 นี้

คนดูติดกับพฤติกรรมเดิม
แม้จะมีรายการใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการปรับตัวของทีวีดิจิทัล รวมไปถึงผู้นำอย่างช่อง 7 กับรายการใหม่ๆ และการที่ดาราดังในสังกัดหายไปมาก และมีแต่ดาราหน้าใหม่เข้ามา รวมถึงรายการดีๆ ที่มีเรตติ้งก็หายไปมาก แต่ช่อง 7 กลับยังคงรักษาความเป็นผู้นำได้อยู่ ส่วนสำคัญมาจากช่อง 7 มีฐานผู้ชมหลักเป็นคนต่างจังหวัด ซึ่งกลุ่มนี้จะยึดติดพฤติกรรมไม่เปลี่ยนช่องไปดูช่องอื่นแม้รายการที่เคยดูจะหายไป นั่นจึงเป็นโจทย์ที่หลายๆช่องกำลังพยายามละลายพฤติกรรมเหล่านี้


รวมถึงช่องพีพีทีวี ที่ปีนี้รุกหนักที่จะต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม ดึงดาราทำกิจกรรมโรดโชว์ไปตามต่างจังหวัดเพื่อสร้างการรับรู้ และการเข้าถึง โดยคาดหวังว่าในอนาคตพีพีทีวีจะเป็นช่องทีวีที่ติดอยู่ในกลุ่มท็อป 5 หรือกลุ่มเดียวกับเวิร์คพ้อยทีวี และโมโน 29 ให้ได้

พีพีทีวีเคาะ 1,000 ล้าน ชูคอนเทนต์ใหม่สู้
นายสุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับพีพีทีวียังพร้อมที่จะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เกี่ยวกับคอนเทนต์ในปี 2562 นี้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์กีฬา วาไรตี และละคร โดยยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นเวิลด์คลาสในคอนเทนต์ต่างๆ ส่งผลให้ภาพของพีพีทีวีในช่วง 2 ปีนี้เปลี่ยนไปมากจากเริ่มต้น ในแง่ปริมาณและรายการที่นำเสนอ พีพีทีวีในวันนี้จึงมีความแตกต่างจากช่องอื่นๆ ที่พร้อมลงทุนด้านคอนเทนต์มาสู่ผู้ชม ส่งผลให้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีรายได้โตขึ้นกว่า 60% และในไตรมาส 2 น่าจะเติบโตขึ้นในระดับเดียวกับหรือมากกว่านั้น


ด้านนายพลากร สมสุวรรณ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายรายการและการตลาด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 กล่าวเสริมว่า ล่าสุดในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมีการปรับผังรายการใหม่ นำเสนอคอนเทนต์ใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก 1. ละคร ทุกคืนวันพุธ-ศุกร์ หลังข่าวในพระราชสำนัก เริ่ม 19 มิ.ย.นี้ ออกอากาศตั้งแต่เวลา 20.15-21.35 น. คือวันละประมาณ 1 ชม. ประเดิมเรื่อง มนตรามหาเสน่ห์ นำแสดงโดย ออย-ธนา และเบนซ์-ปุณยาพร


เซกเมนต์ละครนี้ ทางพีพีทีวีเคยทำเมื่อ 3-4 ปีและได้หยุดไป การกลับมาทำละครครั้งนี้เป็นการทำอย่างจริงจัง ซึ่งมีทั้งการเพิ่มทีมงานฝ่ายละคร ดาราในสังกัด เพื่อการแข่งขันในอนาคต โดยวางเรตราคาโฆษณาไว้ที่ 3.5 แสนบาทต่อนาที กับส่วนลด 20% ซึ่งอนาคตหากได้รับการตอบรับดีทั้งจากผู้ชมและเอเยนซีโฆษณา พร้อมที่จะขยับผังเพิ่มเวลาหรือจำนวนละครที่จะออกอากาศเพิ่มขึ้น จากแผนการดำเนินงานในขณะนี้เตรียมผลิตละครไว้ราว 10-20 เรื่องแล้ว

2. รายการวาไรตีจากที่มีอยู่ เดอะวอยซ์ทั้ง 3 ฟอร์แมต คือ เดอะวอยซ์, เดอะวอยซ์คิดส์ และเดอะวอยซ์ซีเนียร์ รวมถึงกิ๊กดู๋ สงครามเพลง และเกม 1000 หน้า ป๋าจัดไป จะมีรายการใหม่เพิ่มขึ้นอีก เช่น The Great Thai Bake off, Food Truck Battle และ Garage Story 3. กีฬา ปีนี้จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ 2 รายการ คือ โมโตทู และโมโต จีพี และมีกีฬามวยกับ ท็อปแรงค์ ในรุ่นเฮฟวีเวต ระหว่าง Tyson Fury และTom Schwarz วันที่ 16 มิ.ย.นี้ ตามด้วยการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลชาย ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี ใน Merlion Cup 2019 ระหว่าง 7-9 มิ.ย.นี้ และการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิง ครั้งที่ 8 หรือ FIFA Woman's World Cup 2019 รวมถึงการถ่ายทอดสดอุ่นเครื่องช่วงพรีซีซัน อินเตอร์เนชันแนล แชมเปียนส์ คัพ หรือ ICC 2019 ช่วงเดือน ก.ค.นี้


นอกจากนี้ยังได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ประจำปี 2562 รอบชุดว่ายน้ำวันที่ 20 มิ.ย.นี้ รอบพรีลิมมินารี วันที่ 27 มิ.ย.นี้ และรอบไฟนอล วันที่ 29 มิ.ย.นี้ ซึ่งอนาคตจะได้สิทธิ์การถ่ายทอดสดไปทุกปีหรือไม่กำลังอยู่ระหว่างพูดคุยเจรจากันอยู่ ส่วนรายการเดอะเฟซเมนไทยแลนด์ ปีนี้อาจจะไม่ต่อสัญญา เพราะลิขสิทธิ์ค่อนข้างสูงไม่คุ้มที่จะลงทุน


ปัจจุบันช่องพีพีทีวีถือว่าอยู่ในกลุ่มต่ำกว่าท็อป 10 หรือเรตติ้งรวมของช่องอยู่ที่ 0.21 ดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ 0.08 โดยรายการที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ 1. การถ่ายทอดสดฟุตบอล 2. กิ๊กดู๋ และ 3. เดอะวอยซ์ ขณะที่ราคาสปอตโฆษณาของทั้งช่องเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 หมื่นบาทต่อนาที สูงสุดอยู่ที่ 3 แสนบาทต่อนาที กับรายการถ่ายทอดสดฟุตบอล


อย่างไรก็ตาม ทางพีพีทีวียังคงสนใจร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษอยู่กับฤดูกาลใหม่ในปีนี้ ทั้งนี้ ต้องดูว่าจะสู้ราคาไหวหรือไม่ ถ้ารับได้ก็พร้อมที่จะซื้อลิขสิทธิ์ แต่ถ้าสูงเกินไปก็จะนำเสนอกีฬาอื่นๆ เข้ามาทดแทน

พีพีทีวีตั้งเป้ารายได้ 1,000 ล้านบาท
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า การเข้ามาบริหารช่องพีพีทีวีในวันนี้ มองว่าพีพีทีวียังมีจุดอ่อนอยู่หลายด้าน เช่น 1. ต้องทำงานให้มากขึ้น สร้างการรับรู้เกี่ยวกับรายการที่มีว่ามีคุณภาพและประโยชน์ต่อผู้ชม 2. สร้างกำลังใจในการทำและผลิตคอนเทนต์ดีๆ ออกมา มากกว่าพึ่งพาคอนเทนต์ต่างประเทศ 3. ส่งเสริมคอนเทนต์ในประเทศ 4. สร้างพฤติกรรมใหม่ให้คนดูยึดติดหน้าจอทีวี มากกว่าการรับชมผ่านแพลตฟอร์มอื่น


มั่นใจว่า จากจุดแข็งของพีพีทีวีที่มีทุนและศักยภาพในการแข่งขัน พร้อมนำเสนอคอนเทนต์รายการดีๆ ทั้งฟุตบอล ละคร ดารา และเน็ตเวิร์ก จะสร้างความแตกต่างและความสำเร็จได้ ที่สำคัญ ปีนี้พีพีทีวีจะต้องมีรายได้เติบโตจากปีก่อนเป็น 100% จากปีก่อนมีรายได้ 495 ล้านบาท ปีนี้น่าจะทำได้ 1,000 ล้านบาท รวมถึงการก้าวไปอยู่ในกลุ่มท็อป 5 ให้ได้ในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น