“ไพรินทร์” เร่งหาข้อยุติแบบรถไฟฟ้าแทรมป์ภูเก็ต เหลืออีก 2 จุดยังไม่ลงตัว รฟม.ถอยสุดซอยปรับแบบ รถแทรมป์วิ่งร่วมกับรถยนต์ ไม่แยกช่องเฉพาะ ลดผลกระทบบนทางหลวง 402 รอทางหลวงตัดสินใจ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ปัญหาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อลดผลกระทบการจราจร บนทางหลวงหมายเลข 402 ซึ่งเป็นทางหลวงเส้นเดียวที่เชื่อมจากสนามบินเข้าตัวเมืองที่การจราจรหนาแน่นตั้งแต่ 07.00-21.00 น. ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการทางยกระดับ ดังนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงเสนอทั้งรูปแบบใช้ช่องจราจรร่วมระหว่างแทรมป์กับรถยนต์เพื่อให้คงช่องจราจรเท่าเดิม เป็นต้น
โดย 4 จุดหลัก ได้แก่ แยกวงเวียนอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร, แยกบางคู, ทางเข้าสนามบินภูเก็ต, ถนนศรีสุนทร ขณะนี้มีแนวทางเลือกหมดแล้ว เหลืออีก 2 จุดที่ให้กรมทางหลวงเลือกรูปแบบที่เหมาะสม และนำมาหารือร่วมกันในสัปดาห์หน้า เร่งหาข้อสรุปเพราะ รฟม.ยังมีโครงการรถไฟฟ้าแทรมป์ในจังหวัด เชียงใหม่ นครราชสีมา ที่ใช้พื้นที่ถนนของ ทล.ก่อสร้าง
“เรื่องนี้ต้องเร่งหาข้อยุติ เนื่องจากยังมีประเด็นเรื่องรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งกรมทางหลวงได้ยื่นคัดค้าน EIA เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเสนอ EIA ชะงักเพราะหน่วยงานในกระทรวงเดียวกันคัดค้านกันเอง และรายงาน EIA ใกล้จะหมดอายุอีกด้วย”
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ขณะนี้เหลือแยกทางเข้าสนามบิน และแยกบางคู ที่ รฟม.ได้เสนอรูปแบบการก่อสร้างให้กรมทางหลวงเลือก ซึ่งต้องพิจารณาข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบคอบ และมีผลกระทบการจราจรบนถนนน้อยที่สุด
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า จุดทางแยกทางเข้าสนามบิน ตอนนี้รถแทรมป์มี 2 รูปแบบ คือ แบบเดิม เป็นระดับดิน แต่กรมทางหลวงเห็นว่าจะมีการตัดกระแสจราจร รฟม.จึงจัดทำรูปแบบเป็นทางยกระดับเป็นทางเลือก ซึ่งมีระยะทางประมาณ 2 กม. ต้องเวนคืนพื้นที่ของเอกชนบางส่วนเพื่อทำโครงสร้างทางยกระดับ โดยมีค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังเสนอให้ ทล.พิจารณารูปแบบระดับดินเดิมด้วย เนื่องจากพบว่า ทล.มีแผนจะก่อสร้างทางยกระดับข้ามถนน 402 ซึ่งประเมินว่าจะทำให้ปริมาณจราจรพื้นล่างคล่องตัว รถไฟฟ้าแทรมป์จะวิ่งได้ตามรูปแบบเดิม ยังลดผลกระทบต่อประชาชนและลดค่าก่อสร้างด้วย
ส่วนแยกบางคูจนถึงเกาะแก้วประมาณ 2 กม.นั้น แบบเดิมเป็นทางระดับดิน วิ่งไปบนทางหลวง 402 ซึ่ง ทล. ต้องการให้คงช่องจราจรเท่าเดิม ขณะที่แบบเดิมจะกั้นพื้นที่ทางหลวง 2 ช่องจราจรฝั่งขาเข้าจากทั้งหมด 5 ช่องจราจรเพื่อให้รถแทรมป์วิ่งไปและกลับ ขณะที่แบบใหม่ได้ปรับให้รถแทรมป์วิ่งไปและกลับตามกระแสรถยนต์ และเป็นการวิ่งแบบแชร์เลน ซึ่งอาจจะกระทบต่อการควบคุมเวลาวิ่งของรถแทรมป์ไม่ได้กรณีที่เกิดรถติด ขณะเดียวกัน รฟม.จะต้องออกแบบและมีมาตรการเพิ่มเติมในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น
“รถแทรมป์ควรมีเลนของตัวเอง แต่เมื่อไม่มีทางเลือก ต้องปรับวิ่งร่วมกับรถยนต์ รถบนถนนติด รถแทรมป์ก็ต้องติดด้วย จะมีปัญหาควบคุมเวลาไม่ได้ แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้ รอเพียงกรมทางหลวงตัดสินใจ”