xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์12 ส.ค.นั่งฟรี รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน”หัวลำโพง-หลักสอง“ ไพรินทร์ ยันค่าโดยสารเหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


12 ส.ค. 62 ขึ้นฟรีรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย “หัวลำโพง-หลักสอง” พร้อมสีเขียว”หมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว” ส่วนช่วงเตาปูน-ท่าพระ เปิดปีใหม่ 63 ด้าน “ไพรินทร์”ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหมาะสมเมื่อเทียบกับระยะทาง โยนกรมรางฯดูโครงสร้างภาพรวม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามความก้าวหน้าในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ที่สถานีสนามไชยว่า ขณะนี้การดำเนินงานด้านระบบไฟฟ้าต่างๆ ใกล้เสร็จแล้วอยู่ในช่วงการทดสอบ โดยกำหนดเปิดทดลองเดินรถช่วงหัวลำโพง – บางแค โดยให้ประชาชน ใช้บริการฟรี ในวันที่ 12 ส.ค. 2562 และเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ ในเดือนก.ย. 2562 ส่วนช่วงเตาปูน – ท่าพระ จะทดลองเดินรถในวันที่ 1 ม.ค. 2563 และเดินรถเชิงพาณิชย์ ในเดือนมี.ค. 2563
ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ 2563 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเปิดเป็นวงกลม ประกอบด้วย สีน้ำเงินปัจจุบันระบบใต้ดิน มี 19 สถานี ส่วนต่อขยาย อีก 19 สถานี รวมทั้งสิ้น 38 สถานี มีระยะทางรวม 48 กม. จะเป็นเส้นทางสำคัญ เป็นทางเลือกในการเชื่อมต่อเข้าเมืองเพราะมีสถานีที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารได้
นอกจากนี้ ในวันที่ 12 ส.ค.2562 นี้จะมีการเปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วง สถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว จำนวน 1 สถานีอีกด้วย โดยมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอสเป็นผู้ให้บริการ
****ยันค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหมาะสมเมื่อเทียบกับระยะทาง ชี้กรมรางฯดูโครงสร้างในอนาคต
สำหรับกรณีที่มีการระบุว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าประเทศไทยสูงนั้น นายไพรินทร์ว่า สายสีน้ำเงินค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุด 42 บาท กรณีใช้สายสีน้ำเงินต่อกับสีม่วงค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาทโดยมีการยกเว้นค่าแรกเข้าที่ 16 บาท ภาพรวมค่าโดยสารเมื่อเทียบกับระยะทางกว่า 70 กม. มีความเหมาะสมระดับหนึ่ง กรณีที่ผู้โดยสารที่ไม่ได้ใช้บริการประจำ อาจจะรู้สึกราคาสูง แต่หากใช้ประจำจะมีระบบตั๋วเดือนที่ราคาถูกลง และค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกกว่าระบบขนส่งอื่นเช่นจักรยานยนต์รับจ้าง
“หากเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าญี่ปุ่นที่มีใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้คืนทุนไปแล้ว ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งลงทุนรถไฟฟ้า และต้นทุนปัจจุบันสูงกว่า แต่ระบบใหม่และทันสมัยมีประสิทธิภาพกว่า นอกจากนี้ไทยมีผู้ให้บริการหลายรายแต่ละรายมีเงื่อนไขสัญญา ซึ่งโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้าในอนาคต จะเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางราง ที่จะข้อมูลทางวิชาการมาพิจารณาโดยเฉพาะระบบที่เชื่อมต่อกัน แต่ผู้ให้บริการคนละราย”
ด้าน นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟม. อยู่ระหว่างเร่งการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า (M&E Work) สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คืบหน้ากว่า 80.63 % โดยงานระบบช่วงหัวลำโพง – บางแค คืบหน้า 89.73% และช่วงเตาปูน – ท่าพระ คืบหน้า 68.69%
ส่วนขบวนรถไฟฟ้าใหม่ ได้ทยอยส่งมอบล่าสุดแล้ว 4 ขบวน (3 ตู้ต่อขบวน) ในเดือนก.ค. 2562 จะส่งมอบเพิ่มเป็น 10 ขบวน เดือนก.ย. 2562 ส่งมอบเพิ่มเป็น 16 ขบวน และในเดือนม.ค. 2563 จะมีรถประมาณ 30 ขบวน เดือนก.พ. 2563 จะมีรถไฟฟ้าครบทั้ง 35 ขบวน โดยได้ทยอยนำรถเข้าทดสอบระบบรวม ( System Integration Test: SIT) เดือน มิ.ย.-ก.ค. 2562 จากนั้นจะเป็นการทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Running) ซึ่งจะให้ประชาชนเข้าร่วมทดสอบในวันที่ 12 ส.ค. 2562 โดยช่วงแรกการเดินรถส่วนต่อขยายจะวิ่งจากสถานีหัวลำโพง – สถานีหลักสอง ขบวนรถจะยังไม่วิ่งทะลุเข้าระบบสีน้ำเงินปัจจุบัน โดยผู้โดยสารที่ต้องลงที่สถานีหัวลำโพงเพื่อเปลี่ยนขบวนรถเข้าสู่ระบบสีน้ำเงินปัจจุบันจนกว่าจะมั่นใจในระบบ จึงจะมีการปรับการเดินรถให้ขบวนรถวิ่งทะลุต่อไป
ส่วน ช่วงเตาปูน – ท่าพระ คาดว่าจะเริ่มทำการทดสอบระบบรวมประมาณเดือนก.ย.-ธ.ค. 2562 และเริ่มทดสอบการเดินรถเสมือนจริง เดือนธ.ค.2562
“ก่อนเปิดเชิงพาณิชย์ จะต้องทดสอบระบบด้านความปลอดภัยจนมั่นใจ และวิศวกรอิสระ (ICE : Independent Checking Engineer) รับรองก่อน ปัจจุบันสายสีน้ำเงิน MRT มีผู้โดยสารกว่า 3 แสนคน/วัน คาดว่าเปิดส่วนต่อขยายครบวงกลม ผู้โดยสารสายสีน้ำเงินทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 แสนคน/วัน “
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า คาดว่าเปิดเดินรถสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค จะมีผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 60,000 คน/วัน คาดว่าจะเปิดเชิงพาณิชย์ได้ก่อนวันที่ 30 ก.ย. 2562 แน่นอน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ใช้ระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Heavy Rail Transit System) ที่มีความจุสูง มีระยะทางรวมประมาณ 27 กม. โดยโครงการฯ มีแนวเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ) ซึ่งเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ออกไป 2 ทิศทาง ได้แก่ ช่วงหัวลำโพง – บางแค ระยะทาง 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับจำนวน 7 สถานี และช่วงเตาปูน – ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับทั้งหมด จำนวน 8 สถานี
ซึ่งจะทำให้แนวเส้นทางของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ หรือ Circle Line ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินยังมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้แก่ รถไฟ รถไฟฟ้า รถโดยสาร และเรือโดยสาร เพื่อช่วยลดความแออัดของการจราจรบนถนนสายสำคัญๆ ในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี







กำลังโหลดความคิดเห็น