xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เร่งฟีดเดอร์เชื่อมรัฐสภาใหม่-ดึงเอกชนศูนย์ขนส่งเชื่อม “ศูนย์ราชการนนท์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“คมนาคม” ขึงแนวรถไฟฟ้า จัด Shuttle Bus เชื่อม 3 สถานี, ท่าเรือ และสนามบินดอนเมือง รองรับเปิดใช้รัฐสภาใหม่กลางปี 63 จับมือธนารักษ์เปิด PPP ดึงเอกชน ลงทุนมิกซ์ยูส “Bus Terminal” ที่ราชพัสดุเชื่อม “ศูนย์ราชการนนทบุรี”

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ซึ่งได้พิจารณาการจัดระบบจราจร และการเชื่อมต่อบริเวณอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะเปิดใช้ในปี 2563 รวมถึงการจัดการจราจรและระบบขนส่งบริเวณโดยรอบอาคารรัฐสภา ในระหว่างการก่อสร้างสะพานเกียกกายซึ่งจะเปิดใช้ในปี 2565 ด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาจัดรถโดยสาร (Shuttle Bus) ให้บริการจากสถานีบางโพ, สถานีเตาปูน, สถานีเกียกกาย เชื่อมไปยังอาคารรัฐสภา และจากสนามบินดอนเมืองไปยังรัฐสภาฯ (Airport (Shuttle Bus) และให้กรมเจ้าท่า (จท.) พิจารณาปรับปรุงพัฒนาเชื่อมการเดินทางจากท่าเรือบางโพ, ท่าเรือเกียกกาย ไปยังอาคารรัฐสภา

ทั้งนี้ ประเมินว่าอาคารรัฐสภาใหม่จะมีทั้งคนที่ไปทำงาน ไปติดต่อราชการ ในแต่ละวันอาจจะถึงหมื่นคน ซึ่งพื้นที่โดยรอบอาคารรัฐสภานอกจากมีรถไฟฟ้า 3 สายแล้ว ยังมีท่าเรือเกียกกาย, ท่าบางโพ หากมีระบบเชื่อมต่อเป็นฟีดเดอร์ที่ดีจะทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว และจะช่วยเพิ่มผู้โดยสารในโครงข่ายรถไฟฟ้าอีกด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ยังเสนอแนวคิดในการพัฒนาศูนย์การเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณศูนย์ราชการนนทบุรี กับรถไฟฟ้า 3 สาย (สีชมพู สายสีม่วง และสายสีน้ำตาล) ซึ่งจะมีการพัฒนาที่ราชพัสดุติดถนนรัตนาธิเบศร์ ขนาด 2 ไร่ 1 งาน 66.3 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ว่าง แต่มีศักยภาพในการพัฒนาโดยจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ขอใช้สิทธิ์พื้นที่ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ระบบขนส่งสาธารณะต่อไป

โดยแนวคิดในการพัฒนาเป็น Bus Terminal ซึ่งจะมีทั้งจุดเชื่อมต่อรถโดยสารประจำทาง จุดบริการรถแท็กซี่ Skywalk เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้า พื้นที่พักคอย ร้านค้าเชิงพาณิชย์ อาคารสำนักงาน และอาคาร Park&Ride รูปแบบผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส ซึ่ง สนข.จะเป็นผู้ออกแบบกรอบแนวคิด และวาง TOR ส่วนการพัฒนานั้นจะมอบให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของที่ดินเป็นผู้ดำเนินการจัดหาเอกชนมาลงทุน (PPP) พัฒนาตาม TOR

ปัญหาที่ผ่านมาสถานีรถไฟฟ้ามักจะเป็นแบบ Stand Alone ทำให้การเข้าสู่สถานีไม่สะดวก รัฐลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาจราจร และต้องการให้มีคนมาใช้บริการมากๆ ดังนั้น จุดตั้งสถานีนอกจากต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่แล้ว ต้องดูว่าผู้โดยสารจะมาที่สถานีได้อย่างไร และเพื่อให้การบูรณาการแผนการเชื่อมต่อที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะมีการเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ระยะเร่งด่วนภายใต้ คจร.ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น