xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผน “ดุสิตธานีกรุ๊ป” ต้องโต 10% ในวันไร้ รร.ดุสิตธานีสีลม ดัน “ฟู้ดส์” ดาวรุ่งหัวหอกหลัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 - “ดุสิตกรุ๊ป” เปิดแผนสร้างรายได้และกำไรต้องโต 8-10% ต่อเนื่อง แม้ว่ารายได้หลักอย่าง โรงแรมดุสิตธานีสีลม จะไม่มี หายไปกว่าปีละ 700 ล้านบาท ขาดไปหลายปีก็ตาม ชูธงธุรกิจฟู้ดส์ หัวหอกดาวรุ่ง เสริมพอร์ต พร้อมซุ่มลุยมิกซ์ยูสอีก

“ในช่วงที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ถนนสีลม ปิดบริการ ซึ่งปกติแล้วโรงแรมแห่งนี้มีรายได้รวมประมาณ 700 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องสูญรายได้ไปกว่า 700 ล้านบาทต่อปีหลายปีติดต่อกันจนกว่าโรงแรมใหม่จะสร้างเสร็จ แต่เรายังคงตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้และกำไรของทั้งกลุ่มดุสิตธานีไว้ที่ 8-10% ต่อปีโดยเฉลี่ย ต่อเนื่องไปถึงช่วงปีที่โรงแรมดุสิตธานีสีลมกลับมาเปิดบริการใหม่ในรูปโฉมใหม่ที่ร่วมมือกับบริษัท ซีพีเอ็น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นโครงการมิกซ์ยูส” เป็นคำกล่าวของ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

ท่ามกลางการจับตามองถึงโฉมหน้าใหม่ของโรงแรมดุสิตานี เช่นเดียวกับความอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วไปว่า แล้วดุสิตธานีจะทำอย่างไรเพื่อให้มีการเติบโต 8-10% ได้อย่างที่วางแผนไว้ ขณะที่โครงการมิกซ์ยูสนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ประกอบกับภาวะการแข่งขันทางด้านโรงแรมก็ยังคงรุนแรง และภาวะทางเศรษฐกิจก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร


ดังนั้น กลยุทธ์และทิศทางการปรับตัวของดุสิตกรุ๊ปจากนี้จึงน่าสนใจ ถึงแนวทางการแสวงหารายได้และกำไรที่จะกลับมาทำให้สถานภาพยังมั่นคงเหมือนปกติที่มีประมาณ 5,500 ล้านบาทต่อปีให้ได้ และที่สำคัญต้องเติบโตต่อด้วย

จากโครงสร้างธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนใหม่ในช่วงปีที่แล้ว (2561) คือการปูพื้นฐานไว้ล่วงหน้า และเห็นผลชัดเจนในปี 2562 นี้ในการขับเคลื่อนกับ 5 ธุรกิจ เช่น 1. ธุรกิจโรงแรม 2. ธุรกิจการศึกษา 3. ธุรกิจอาหาร 4. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม และ 5. ธุรกิจอื่นๆ

โดยที่โรงแรมอีกหลายแห่งที่เปิดดำเนินการอยู่ยังคงเป็นรายได้หลักรวมด้วยสัดส่วนมากกว่า 70% และธุรกิจที่เหลือก็จะเป็นรายได้ที่ยังคงทรงตัวตามปกติ

ขณะที่ธุรกิจใหม่ดาวรุ่งที่จะสร้างสีสันและผลักดันการเติบโต คือ ธุรกิจอาหาร นั่นเอง

ถึงขั้นตั้งบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งดุสิตธานีกรุ๊ปถือหุ้น 99.99% เพื่อขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหารที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักโรงแรม และเป็นการดำเนินการที่คล่องตัวจากการแยกออกจากธุรกิจอาหารในโรงแรม

*** “อาหาร” ดาวรุ่งใหม่หัวหอก
“การตั้งดุสิตฟู้ดส์ขึ้นมานี้ ก็จะเป็นบริษัทที่ทำเรื่องอาหารเป็นหลักเลย และเป็นเหมือนซัปพลายเออร์ที่ส่งอาหารวัตถุดิบ หรือซอส อะไรต่างๆ ให้กับธุรกิจอาหารของโรงแรมไปดำเนินการ ทำให้ค่าใช้จ่ายและรายได้ก็ยังคงหมุนเวียนอยู่ในดุสิตกรุ๊ปนั่นเอง และดุสิตฟู้ดส์ก็ยังคงเป็นบริษัทที่ขยายธุรกิจสู่อาหารอื่นๆ นอกเครือด้วย” นางศุภจีกล่าว

เกมแรกของดุสิตฟู้ดส์ คือ เมื่อปีที่แล้วได้ร่วมกับกลุ่ม Hatton Capital เข้าลงทุนในบริษัท เอ็นอาร์อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด หรือเอ็นอาร์ไอพี ด้วยการถือหุ้น 26% บริษัทฯ นี้เป็นโรงงานผลิตอาหารและส่งสินค้าไปจำหน่ายกว่า 25 ประเทศ ให้กับแบรนด์อื่นกว่า 50 แบรนด์ และแบรนด์ตัวเองที่มีอยู่ 5 แบรนด์ และจะสร้างใหม่อีก 1 แบรนด์ มีสินค้ามากกว่า 1,000 เอสเคยู และยังมีโครงการขยายงานขยายตลาดอีกต่อเนื่อง เน้นไปที่อาหารเพื่อสุขภาพ

“ในแต่ละปี บริษัท เอ็นอาร์อินสแตนท์ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทอยู่แล้ว มีแผนที่จะขยายธุรกิจอีก ทำให้รายได้ต่อปีที่เราจะได้รับก็ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท”

ล่าสุดปีนี้ (2562) ยังได้ลงทุนประมาณ 423 ล้านบาท เข้าซื้อหุ้นจำนวน 51% ในบริษัท EPICURE CATERING จำกัด หรืออีซีซี/ECC และยังมีข้อตกลงที่จะให้ดุสิตฯ สามารถเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อให้มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 70% ได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือคิดเป็นเงินลงทุนรวม 613 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจของอีซีซี ผู้ผลิตอาหารแบบแคเทอริ่งให้กับโรงเรียนนานาชาติในไทยรวมมากกว่า 30 แห่ง เป็นผู้นำตลาด และยังมีธุรกิจในเวียดนาม และกัมพูชาอีกหลายแห่งด้วย

แนวทางของดุสิตฟู้ดส์ จะมีทั้งการพัฒนาสินค้าขึ้นมาเอง และการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทอื่นๆ เพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ในส่วนของบริษัทเอ็นอาร์ไอพีนั้นก็มีโครงการที่จะขยายธุรกิจเองด้วยเช่นกัน

“ที่ผ่านมาธุรกิจอาหารเราทำภายใต้โรงแรมดุสิตธานี แต่การตั้งดุสิตฟู้ดส์ขึ้นมาเพื่อสร้างทางเลือกใหม่และลงทุนให้เหมาะสมกับปัจจุบัน โดยเชื่อมต่อหรือสร้างพลังผนึกกับธุรกิจที่มีอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจอาหารในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่มีการดิสรัปชันเกิดขึ้น (Disruption) มีทั้งเรื่องอี-คอมเมิร์ซ มีทั้งดีลิเวอรี มีการแชร์ภาพเรื่องราวเนื้อหาการรีวิวเกี่ยวกับอาหาร มีนวัตกรรมต่างๆ เราจึงต้องปรับตัว” นางศุภจีกล่าว


เป้าหมายของดุสิตฟู้ดส์ ภายใน 3 ปีนี้จะต้องมีรายได้รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 20-25% ต่อปี และจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้เป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% ของรายได้รวม ขณะที่สัดส่วนรายได้โรงแรมอาจจะลดลงเหลือ 70%

*** ปั้นแบรนด์ “ของไทย” รุกต่างประเทศ
งานนี้หัวเรือใหญ่ที่ดูแลดุสิตฟู้ดส์คือ นายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัด ก็คงต้องออกอาการฟิตไม่หยุดแน่นอน

นายเจตน์มองว่า บริษัทวางเป้าหมายรายได้ธุรกิจอาหารรวม 1,000 ล้านบาท ในช่วง 3 ปี (ปี 2562-2564) ซึ่งช่วงแรกนี้ก็สามารถทำรายได้รวมแล้วกว่า 400 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทตามที่กล่าวมา


ขณะเดียวกัน ดุสิตฟู้ดส์ก็จะมีแผนสร้างรายได้อีก โดยการสร้างแบรนด์ “ของไทย” เพื่อเป็นแบรนด์สินค้าอาหารสำเร็จรูป วางจำหน่ายต่างประเทศเป็นหลัก เน้นช่องทางร้านอาหารที่มีระดับภัตตาคาร เป็นต้น
เบื้องต้นทำการผลิตออกมา 4 เมนูที่เป็นที่นิยม คือ แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ และก๋วยเตี๋ยวแขก แต่มี 2 รูปแบบ คือ พร้อมปรุง และซื้อไปเพิ่มส่วนผสมและเครื่องปรุงอีก โดยมีเชฟเดวิด ทอมสัน ชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ร่วมพัฒนาสูตรกับทางดุสิต


ตลาดต่างประเทศจะเริ่มที่อเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ และอาหารไทยเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว โดยจะเจาะตลาดทั้งออนไลน์กับออฟไลน์ ทำตลาดตรงกับกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นพ่อครัวและผู้ประกอบกิจการอาหารหรือการบริการทำอาหารฟูดเซอร์วิส โดยเริ่มวางจำหน่ายสินค้าเดือนกันยายนนี้ นอกจากนั้นจะขยายตลาดอื่นในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ส่วนตลาดในประเทศเน้นไปที่ช่องทางรีเทล เบื้องต้นเข้าร่วมงาน ไทยเฟ็กซ์ 28 พฤษภาคม-1 มิถุนายน ศกนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี


วางเป้าหมายรายได้ของแบรนด์ “ของไทย” นี้ไว้ที่ 100 ล้านบาทในช่วง 5 ปีแรก หรือมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10-20% ของรายได้รวมดุสิตธานีกรุ๊ปที่มีประมาณ 5,500 กว่าล้านบาท
นี่คือเส้นทางธุรกิจอาหารที่เป็นดาวดวงใหม่ของดุสิตกรุ๊ป

*** รับ 200 ล้านบาทจากซีพีเอ็นทุกปี
ส่วนรายได้อีกทางที่จะเกิดขึ้นคือ การที่กลุ่มดุสิตมีข้อตกลงในสัญญาการร่วมทุนกับทางบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ที่ร่วมกันพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค บนพื้นที่เดิมของโรงแรมดุสิตธานีสีลม และพื้นที่ใหม่ที่ติดกัน

จากความร่วมมือนี้ ซีพีเอ็นจะต้องส่งมอบเงินให้กับทางดุสิต หรือที่เรียกว่า กำไรจากการขายเงินลงทุนในระยะยาว ประมาณปีละ 200 ล้านบาท ทุกปีจนกว่าโครงการจะเริ่มเปิดบริการใหม่ หรือประมาณปี 2564 ซึ่งเริ่มชำระให้ตั้งแต่ปี 2560


โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นการร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ในนามบริษัท วิมานสุริยา จำกัด ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น ฝ่ายดุสิตกรุ๊ป 60% และซีพีเอ็น 40% คาดว่าจะสามารถเปิดบริการในเฟสแรก คือ โรงแรม ในปี 2565 ขณะที่เฟสที่ 2 คือรีเทลหรือศูนย์การค้า กับอาคารสำนักงาน (ซึ่งอาคารสำนักงานซีพีเอ็นลงทุนเป็นหลัก) คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2566 และเฟสที่ 3 คือ ที่พักอาศัยหรือเรสซิเดนเชียล จะเปิดบริการปี 2567

ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 36,700 ล้านบาท มีพื้นที่โครงการทั้งหมดประมาณ 4.4 แสนตารางเมตร เนื้อที่ 23 ไร่ มากกว่าเดิมเมื่อครั้งที่เป็นเพียงโรงแรมดุสิตธานีเท่านั้นที่มีเพียงไม่ถึง 1 แสนตารางเมตร เนื่องจากเดิมมีเนื้อที่ 18 ไร่ แต่สัญญาใหม่กับเจ้าของที่ดินจะมีเนื้อที่เพิ่มเป็น 23 ไร่ และเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูส
นี่คืออีกหนึ่งทางที่ทำให้ดุสิตฯ ยังคงมีรายได้ตัวเลขทางการเงินเข้ามาแน่นอน

*** เช่าบ้านเก่ากว่า 100 ปีทำร้านอาหาร
หรือแม้แต่รายได้ใหม่ๆ จากธุรกิจที่เพิ่งเกิดคือ ไตรมาสที่ 3 ปี 2562 นี้ ดุสิตธานีกรุ๊ปจะเปิดให้บริการ “บ้านดุสิตธานี” บนที่ดินแปลงงามประมาณ 5 ไร่ที่ได้ทำสัญญาระยะยาวกับเจ้าของที่ดินเดิม ที่เป็นบ้านโบราณอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งเราเองศึกษาแล้วพัฒนาเป็นสถานที่รับประทานอาหารด้วยการนำเอาซิกเนเจอร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เช่น ห้องอาหารไทยเบญจรงค์ ห้องอาหารเวียดนามเทียนดอง ร้านเบเกอรีดุสิตกูร์เมต์ บริการซักรีด พื้นที่รับจัดเลี้ยง ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่มีขนาดกำลังดี ทำเลก็ดี รูปแบบบ้านก็น่าดึงดูด รวมทั้งร้านอาหารดังกล่าวนี้ย่อมการันตีคุณภาพอาหารได้ แน่นอนว่าเมื่อเปิดบริการเมื่อไร ย่อมต้องได้รับการตอบรับที่ดีจากคนในพื้นที่ย่านนั้นแน่นอน


งานนี้ลงทุนไปกว่า 100 ล้านบาท และก็น่าจะเป็นแหล่งรายได้ในระยะยาวที่มากแห่งหนึ่งให้กับดุสิตธานี ซึ่งจะเปิดบริการเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมนี้

*** ลุยมิกซ์ยูส ขยายไลน์ธุรกิจโรงแรม
ขณะที่ภาพใหญ่ของโรงแรมนั้น ทุกแบรนด์ในเครือยังคงการลงทุนกันอย่างต่อเนื่อง แต่ 10-12 แห่งต่อปี
ปัจจุบันดุสิตกรุ๊ปมีโรงแรมและรีสอร์ต ที่พัก ทุกโมเดล อยู่ในความดูแลรวมทั้งสิ้น 32 แห่ง กระจายทั่วโลกใน 14 ประเทศ

ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วก็เพิ่งควักเงินก้อนโตซื้อกลุ่มบริษัท อีลิท เฮฟเว่น ซึ่งเป็นเชนที่มีพร็อพเพอร์ตี้รวมกันมากกว่า 250 แห่ง นอกจากนั้นยังได้เซ็นสัญญาเข้าบริหาร โตเกียวซิตี้ อีก 2 ปี ซึ่งเป็นที่พักโรงแรมจำนวนกว่า 200 ห้อง อยู่ใกล้กับวัดอาซากุสะ ที่ร่วมมือกับพันธมิตรคือกลุ่มคัลเลอร์พาร์ตเนอร์

ดุสิตกรุ๊ปปยังมองการเปิดโรงแรมใหม่ต่อปี 10-2 แห่ง ปีนี้ก็เปิดไปแล้ว 5 แห่ง คือ 1. เปิดที่ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง, 2. เปิดที่โดฮา 1 แห่ง, 3. เปิดที่กรุงเทพฯ 1 แห่ง ชื่อดุสิตสตรีท, 4. เปิดที่ดูไบ 1 แห่ง ที่เหลือจะเปิดครึ่งปีหลังอีก 6-7 แห่ง มีทั้งในไทยและต่างประเทศด้วย เช่น ที่บาห์เรน และที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ของดุสิตทั้ง 2 ประเทศ ที่จีน 3 แห่ง ที่ฟิลิปปินส์ 1 แห่ง เป็นต้น

“เป้าหมายของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ตที่พักของเรา เราต้องการที่จะให้บริการที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีแต่โรงแรมที่เป็นฟูลเซอร์วิสเท่านั้น เช่น เราสร้างที่พักแบรนด์ “อาศัย” ขึ้นมา เพื่อเติมเต็มรูปแบบใหม่ๆ” นางศุภจีกล่าว

หนึ่งในนั้นคือ โครงการแบบมิกซ์ยูส ที่เริ่มไปแล้วกับการร่วมทุนกับกลุ่มซีพีเอ็นของตระกูลจิราธิวัฒน์ ที่โรงแรมดุสิตานีเดิม

“จากนี้ไปเราจะมีโครงการแบบมิกซ์ยูสตามมาอีกอย่างน้อย 2-3 แห่ง ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มอื่น ที่เปิดเผยได้ตอนนี้ 1 แห่งก็คือ การที่เรามีพันธมิตรคือกลุ่มบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเมนท์ ก็จะมีโครงการร่วมกัน จะเปิดตัวได้ไตรมาส 3 ปีนี้”

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีแผนที่จะต้องปรับปรุงโรงแรมอีกหลายแห่ง เช่นที่หัวหิน ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งยังมีที่ดินว่างอีก 10 กว่าไร่ที่อาจจะมีการพัฒนาโครงการใหม่ที่ต้องใช้บกว่า 1,000 ล้านบาท และที่มะนิลาก็จะปรับปรุงด้วยงบ 300 ล้านบาทเช่นกัน

“เมื่อรีโนเวตเสร็จ ราคาห้องพักก็ดีขึ้น ลูกคาก็มากขึ้น เราก็จะได้รายได้ส่วนต่างที่เพิ่มมาอีกจากเดิมที่ยังไม่ได้รีโนเวต” นางศุภจีกล่าว

กลยุทธ์ต่างๆ ของ ดุสิตกรุ๊ป ในครั้งนี้ ก็คือ การปรับตัวเพื่อแสวงหารายได้ และสร้างกำไร ในช่วงที่โรงแรมดุสิตธานีสีลมปิดบริการนั่นเอง เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ว่า จะต้องเติบโตให้ได้เฉลี่ย 8-10% ต่อปีต่อเนื่องนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น