xs
xsm
sm
md
lg

ยาวไป! โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา “นิด้า” สรุปผลศึกษาไม่ทันจ่อขยายเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะกรรมการ SEA รับผลการศึกษานิด้า 5 เดือนแรกที่ต้องได้คำตอบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาควรมีหรือไม่สรุปรายงานไม่ทันกำหนด พ.ค. เหตุมีรายละเอียดมากและติดช่วงเลือกตั้งซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะขยายกรอบเวลาศึกษาจากเดิม 9 เดือนออกไปอีกโดยเตรียมหารือเร็วๆ นี้


น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเลื่อนกรอบระยะเวลาศึกษาออกไปจากเดิมที่กำหนดไว้ 9 เดือนหลังจากลงนามเมื่อ ม.ค. 2562 หรือศึกษาครบทั้งหมดภายใน ก.ย.นี้ เนื่องจากภายใต้สัญญาจ้างระยะ 5 เดือนแรกหรือภายใน พ.ค.จะต้องสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และเทพา จ.สงขลาควรมีหรือไม่ ซึ่งล่าสุดไม่สามารถสรุปการศึกษาได้ทัน


“การศึกษาระยะ 5 เดือนแรกกำหนดต้องลงไปรับฟังความเห็นใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ที่จังหวัดสงขลา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ที่เดิมกำหนดไว้ในช่วง มี.ค. ซึ่งช่วงนั้นมีการเลือกตั้ง และ เม.ย.เองก็ติดหยุดยาวและการเตรียมข้อมูลพื้นฐานครั้งแรกต้องใช้เวลาและมีรายละเอียดมากจึงทำได้ไม่ทันที่กำหนดไว้ ดังนั้นกรอบศึกษา 9 เดือนที่ต้องศึกษาครอบคลุม 15 จังหวัดภาคใต้อาจต้องเลื่อนออกไปด้วย ซึ่งคณะกรรมการฯ คงต้องมาสรุปร่วมกับนิด้าอีกครั้งเร็วๆ นี้ และหากเลื่อนทางนิด้าจะต้องหารือกับสำนักงาน กกพ.เพื่อชี้แจงเหตุผลและขยายสัญญาต่อไป” น.ส.นันธิกากล่าว


นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานร่วม SEA สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ กล่าวยอมรับว่า การศึกษาช่วงแรกเสร็จไม่ทันกำหนด พ.ค.นี้ เพราะต้องใช้เวลาในการจัดทำรายละเอียดในการลงพื้นที่รับฟังความเห็นส่วนจะเลื่อนออกไปเมื่อไหร่และกรอบศึกษารวม 9 เดือนจะเลื่อนไปด้วยหรือไม่ ขณะนี้ทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกำลังเตรียมสรุปเพื่อหารือต่อไป


“การศึกษา 5 เดือนแรกจะต้องลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ลงไปแล้วก่อนหน้านี้ 1 ครั้ง ซึ่งยอมรับว่ามีรายละเอียดมากที่ต้องทำ ซึ่งทุกฝ่ายก็เห็นด้วยว่าหากสรุปไปโดยไม่เคลียร์ก็ไม่ควรจะเร่งรัด หากสรุปต้องชี้แจงได้ทุกส่วนจะดีกว่า จึงมีแนวโน้มจะเลื่อนการศึกษาออกแต่จะมากน้อยเพียงใดก็คงต้องรอสรุปร่วมกัน ส่วนการเมืองแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นผลการศึกษาที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้” นายดนุชากล่าว


นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเทพา ซึ่งสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ กล่าวว่า ได้ร่วมรับฟังความเห็นในเวทีที่ จ.สงขลา ซึ่งก็ไม่อยากจะคาดหวังอะไรกับนโยบายของภาครัฐ เพราะหากตั้งธงแล้วไม่เอาก็คือไม่เอาการศึกษาทำมามากแล้วจะเสียงบประมาณไปเปล่าๆ แม้จะมีรัฐบาลใหม่มาก็คงจะไม่ได้คาดหวังอะไรอีกเพราะเห็นๆ อยู่ว่าการเมืองขณะนี้เป็นเช่นไร


นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า ระยะเวลาการศึกษาหากเลื่อนออกไปเล็กน้อยก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไรอยู่ที่นิด้าจะตัดสินใจ แต่สาระสำคัญคือ เมื่อมีการสรุปความเห็นนั้นเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ทางเครือข่ายต้องการเห็นรายงานก่อนที่จะมีการนำเสนอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา โดยที่ผ่านมาเครือข่ายได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นที่มีการเปิดไปแล้ว 4 เวที คือ สงขลา กระบี่ สุราษฎ์ธานี และชุมพร ซึ่งคาดว่าจะมีการเปิดอีก 1-2 ครั้ง

กำลังโหลดความคิดเห็น