xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.นำร่องรถแทรมป์โคราชลงทุนกว่า 8 พันล้าน เปิด PPP คัดเลือกเอกชนปลายปี 63

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รฟม.เซ็นจ้างที่ปรึกษา ออกแบบและศึกษารูปแบบร่วมลงทุน PPP รถไฟฟ้ารางเบาโคราช นำร่องสายสีเขียว 11.17 กม. มูลค่าลงทุน 8 พันล้าน คาดเสนอ กก.PPP อนุมัติเปิดประมูลปลายปี 63 ก่อสร้างเสร็จเปิดให้บริการปี 68

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม.ได้ลงนามสัญญาจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา นำโดยบริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด และ บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 85.6 ล้านบาท เป็นที่ปรึกษาศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) ระยะทาง 11.10 กม. เบื้องต้นประเมินมูลค่าลงทุนไว้ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

โดยช่วงแรกจะเป็นการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทำหน้าที่ที่ปรึกษาตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

ช่วงที่ 2 เป็นการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาเพื่อคัดเลือก ผู้รับจ้างงานก่อสร้างโครงการ และ/หรือ เอกสารประกวดข้อเสนอเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานโยธา งานระบบรถไฟฟ้า งานบำรุงรักษาและงานให้บริการเดินรถ

ทั้งนี้ ตามแผนงาน ในช่วง 6 เดือน จะศึกษารูปแบบการลงทุน ออกแบบรายละเอียดเพื่อประเมินต้นทุนโครงการก่อน เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ PPP เข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ปลายปี 2563 เริ่มการก่อสร้างปลายปี 2564 เปิดให้บริการต้นปี 2568 คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นคน/วัน เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่ผ่านสถานที่สำคัญและมีสถานีเชื่อมต่อกับสถานรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง

สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา จ.นครราชสีมา สายสีเขียว เส้นทางเริ่มจาก ตลาดเซฟวัน – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) หรือ Tram รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวตะวันออก-ตะวันตก บนถนนมิตรภาพ ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนราชดำเนิน ถนนชุมพล และถนนสุรนารายณ์ มีสถานีจำนวน 20 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุง บริเวณบ้านนารีสวัสดิ์

ส่วนการร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น จะใช้รูปแบบเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง คือ รัฐจัดหาที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา ระบบรถและเดินรถ โดยรัฐทยอยชำระคืนระยะ 10 ปี โดยเปิดกว้างทั้งเอกชนท้องถิ่นและนักลงทุนทั่วไปสามารถเข้าร่วมประมูลได้

“ตามการศึกษาโคราชจะมีรถไฟฟ้า 3 สาย ซึ่งจะนำร่องสายสีเขียวก่อนเพื่อดูผลการดำเนินงาน ทั้งในแง่ผลกระทบระหว่างก่อสร้างและการตอบรับของประชาชน เนื่องจากเป็นการก่อสร้างในเขตเมืองใหญ่ที่มีปัญหาจราจร ซึ่งรถไฟฟ้ารางเบานั้นแนวเส้นทางจะอยู่บนแนวถนน มีการเวนคืนน้อย อาจเวนคืนบ้างหากถนนแคบ หรือจุดโค้งทางเลี้ยว จุดที่ตั้งสถานี”

โดยตามผลการศึกษาโครงการแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะมีโครงข่าย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว ซึ่งเส้นทางหลัก ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ตลาดเซฟวัน ตลาดมิตรภาพ สถานีรถไฟจังหวัดนครราชสีมา คลังพลาซ่าใหม่ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โรงเรียนสุรนารีวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานจังหวัดนครราชสีมา สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นต้น ส่วนสายสีส้ม และสายสีม่วงจะประเมินผลหลังจากดำเนินโครงการสายสีเขียวก่อน โดยคาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร โครงข่ายรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย มีประมาณ 2 หมื่นคน/วัน

นายภคพงศ์กล่าวถึงระบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาคที่ รฟม.รับผิดชอบ และอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผน ได้แก่ ระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต อยู่ระหว่างหารือกับกรมทางหลวงในการปรับปรุงแบบ ที่เป็นจุดตัดกับถนน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนโครงการที่ต้องประเมินใหม่ และปรับรายงานร่วมลงทุน PPP ส่วนระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาแนวเส้นทางอย่างละเอียด ส่วนระบบขนส่งมวลชน จังหวัดพิษณุโลก อยู่ระหว่างรอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้ รฟม.ดำเนินการกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลก จากนั้นจะเป็นการจ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดและรายงานสิ่งแวดล้อม และรูปแบบการลงทุนต่อไป





กำลังโหลดความคิดเห็น