xs
xsm
sm
md
lg

พิทักษ์เกาะเกร็ดปลอดภัย สะสมบุญใหม่เพื่อการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เกาะขนาดเล็ก ประมาณ 2,625 ไร่ ห้อมล้อมด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง คือ “เกาะเกร็ด” ที่โด่งดังจากวิถีวัฒนธรรมที่ติดตัวมากับชาวมอญ เมื่อคราวอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

เดิมทีพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นเกาะ แต่การขุดคลองลัด สมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. 2265 แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพื่อให้เรือวิ่งลัดตรงได้ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมโค้งบางบัวทอง เช่นเดียวกับหน้าโรงพยาบาลศิริราช-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ขุดก่อนหน้านั้นสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช กลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนเส้นทางน้ำเดิมที่เข้าคลองบางกอกน้อยไปทะลุคลองบางกอกใหญ่


คลองลัดเกร็ดน้อย หรือเตร็ดน้อย ใช้กำลังคนกว่า 10,000 คนขุดภายในชั่วเดือนเดียวก็แล้วเสร็จ เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยนทิศ คลองลัดผันเป็นแม่น้ำกัดเซาะส่วนที่เป็นแหลมขาด เกิดเป็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเกาะเกร็ด โดยมีปากแม่น้ำเดิมที่เรียกปากเกร็ดอยู่ตรงข้ามกัน ปัจจุบันเกาะเกร็ดเป็นตำบลหนึ่งของ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
สภาพภูมิประเทศของเกาะเกร็ด บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นตอนกลางเกาะ ช่วงฤดูน้ำหลากปลายปี พื้นที่เกาะเกร็ดเผชิญปัญหา ทั้งน้ำท่วมและน้ำกัดเซาะตลิ่งจนเสียหายและทางรัฐก็พยายามแก้ไข

ครั้งล่าสุด เมื่อ 24 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงไปพบปะประชาชนที่นั่น ปัญหานี้ได้รับการเสนอขึ้นมาจากชุมชนชาวเกาะเกร็ดอีกครั้ง โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหน่วยงานรับมอบหมายพิจารณาข้อเสนอร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้อเสนอยังคงเป็นปัญหาพื้นฐาน คือ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกับการกัดเซาะตลิ่งเกาะเกร็ด


พล.อ.ประยุทธ์ไปไกลกว่า 2 เรื่อง มอบให้กระทรวงมหาดไทย โดย จ.นนทบุรี ร่วมกับท้องถิ่น จัดทำแผนพัฒนาเกาะเกร็ด โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตการพัฒนาเกาะเกร็ดอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อม โดยยังคงอัตลักษณ์ของชุมชนเกาะเกร็ดไว้ ทั้งนี้ให้ประสานงานกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดด้วย
เพราะเกาะเกร็ดยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.นนทบุรี นั่นเอง


ขณะเดียวกันยังมีความพยายามให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฟื้นฟูทุเรียนนนท์ที่เคยปลูกบนเกาะเกร็ดให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตในสภาพปัจจุบัน


ส่วนเรื่องการลักลอบเดินเรือที่ไม่เป็นไปตามประกาศกรมเจ้าท่า และเป็นส่วนหนึ่งของการกัดเซาะตลิ่ง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดการ


ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช.เปิดเผยว่า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณพื้นที่วิกฤตนั้น สทนช.ได้ประชุมร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนท้องถิ่นจังหวัดนนทบุรี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน เป็นต้น ซึ่งได้ข้อสรุปคือก่อสร้าง 3 ช่วง ที่ค่อนข้างวิกฤตก่อน ประกอบด้วย

ช่วงแรก พื้นที่จากวัดเสาธงทอง-วัดปรมัยยิกาวาส 900 เมตร ช่วงที่สอง จากวัดปริมัยยิกาวาส-วัดฉิมพลี 800 เมตร และวัดป่าฝ้าย-ชุมชนมุสลิม 700 เมตร โดยให้ 3 หน่วยงานประกอบด้วย จ.นนทบุรี อบต.เกาะเกร็ด และกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งเตรียมความพร้อม สำรวจ ออกแบบเขื่อนและปรับปรุงสาธารณูปโภค การขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และทำการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายในปี 2563 เพื่อก่อสร้างในปี 2564


นอกจากนี้ ให้ จ.นนทบุรี อบต.เกาะเกร็ด และกรมชลประทาน จัดทำผังน้ำภายในเกาะเกร็ด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และจัดการคุณภาพน้ำ รวมทั้งให้กรมเจ้าท่าจัดการจราจรทางน้ำเพื่อป้องกันปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง

“น่าจะรู้ความก้าวหน้าและแผนดำเนินงานของทุกหน่วยงาน ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้” เลขาธิการ สทนช.กล่าว
ปัญหาเกาะเกร็ดเริ่มขับเคลื่อนเป็นรูปเป็นร่าง มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบในแต่ละส่วนปัญหาชัดเจน และอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เกาะเกร็ดยังคงเป็นเม็ดมณีของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่ส่องประกายการท่องเที่ยวได้อีกยาวไกล




กำลังโหลดความคิดเห็น