ครม.เคาะรถไฟทางคู่สายใหม่ “บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม” 6.68 หมื่นล้าน เวนคืน 7,100 แปลง คาดประมูลปี 63 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดใช้ปี 68 เชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่ง แนวระเบียงตะวันออก-ตะวันตก เปิดประตูขนส่งพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ค. ได้มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - มหาสารคาม - ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) ซึ่งตามแผนงานของ ร.ฟ.ท.ในปี 2562 จะดำเนินการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ปี 2563 ประกวดราคา และก่อสร้างปี 2563-2567 (ระยะเวลา 5 ปี) คาดว่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างในเดือนมกราคม 2564 แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2567 สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในเดือนมกราคม 2568
ทั้งนี้ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ซึ่งให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายปี สำหรับค่าเวนคืนที่ดิน และให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดหาและค้ำประกัน เงินกู้ในประเทศให้ดำเนินการก่อสร้าง และได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนโครงการ โดยให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
ส่วนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะดำเนินการประมูลคู่ขนานและลงนามสัญญาผู้รับจ้างได้เมื่อ EIA อนุมัติแล้ว
โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เป็นส่วนหนึ่งเส้นทางยุทธศาสตร์โครงข่ายรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก ตอนบน (Upper East-West Economic Corridor) ช่วง แม่สอด-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก บ้านไผ่-นครพนม ช่วงที่ 2 จากนครสวรรค์-บ้านไผ่ ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม ใช้เวลา 6 เดือน แล้วเสร็จปลายปี 2562 และช่วงที่ 3 จากนครสวรรค์-แม่สอด ศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว
ทั้งนี้ แนวเส้นทางระเบียบเศรษฐกิจด้านตะวันออก-ตะวันตก จะเชื่อมโครงข่ายรถไฟเดิมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนด้านตะวันออกจะเชื่อมไปยังโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จังหวัดนครพนม ซึ่งกรมการขนส่งทางบกกำลังดำเนินการก่อสร้าง และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟจากนครพนมไปยัง สปป.ลาว เชื่อมไปถึงเมืองวินและฮานอย ประเทศเวียดนาม ขณะที่ด้านตะวันตกจากแม่สอดจะสามารถเชื่อมไปยังท่าเรือย่างกุ้ง ท่าเรือละแหม่ง ประเทศพม่าในอนาคตได้อีกด้วย
“ช่วง 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลผลักดันการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 1 เท่าตัว หรือจากที่มี 4,043 กม. เป็น 8,000 กม. ซึ่งเส้นทางนี้มีการศึกษาและต้องรอคอยมากว่า 30 ปี” นายอาคมกล่าว และว่าจะเป็นการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ จำนวน 2 ทาง เป็นคันทางระดับดิน และบางส่วนเป็นทางรถไฟยกระดับ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 70 ตำบล 16 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น) สำหรับซ่อมวาระเบาและซ่อมวาระปานกลาง ส่วนวาระหนักจะส่งไปซ่อมที่โรงรถจักรอุตรดิตถ์
มีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ความกว้างของราง ขนาด 1 เมตร สามารถเชื่อมต่อกับระบบรางเดิมของ ร.ฟ.ท.ที่มีอยู่ รองรับการเดินรถขนาดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทางรถไฟเป็นแบบใช้หินโรยทางทั้งทางระดับพื้นดิน สะพาน และโครงสร้างยกระดับที่เป็นคอนกรีต
โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 3,835,260 คน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.37% ต่อปี และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 748,453 ตัน ในปี 2569 ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.19% ต่อปี โครงการนี้จะมีผลตอบแทนทางการเงิน 0.42% และผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่ 13.49%