xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจีเปิดตัว “ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในไทย” นำร่องติดตั้งที่ชุมชนคลองพลับพลา พระราม 9

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดตัว “ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย” หรือ SCG Reinvented Toilet ห้องน้ำพร้อมระบบบำบัดกากของเสียที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียแบบครบวงจร สามารถแยกน้ำและกากของเสียออกจากกันได้ 100% โดยไม่มีของเสียที่ปนเปื้อนออกสู่ระบบระบายน้ำ และแม่น้ำลำคลอง จึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคติดต่อ สามารถหมุนเวียนน้ำที่ใช้ในระบบกลับมาใช้ได้อีก และยังนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในลักษณะสารปรับปรุงดิน ซึ่งต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กับ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย หรือเอไอที เพื่อสร้างสุขอนามัยขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนและเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาในช่วงต้นจากมูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ล่าสุดได้นำร่องติดตั้งเป็นห้องน้ำสาธารณะที่ชุมชนคลองพลับพลา พระราม 9

นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เปิดเผยว่า ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย หรือ SCG Reinvented Toilet เป็นความร่วมมือระหว่างธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจีได้พัฒนาและต่อยอดจนเกิดเป็น “ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย” ถือเป็นโซลูชันที่ดีในการยกระดับสุขอนามัยที่ยั่งยืนเพื่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ห่างไกล และในพื้นที่สาธารณะที่ประสบปัญหาด้านสุขอนามัยจากการขาดแคลนห้องน้ำและระบบบำบัดที่เหมาะสม จุดเด่นอยู่ที่ระบบบำบัดกากของเสียที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรียแบบครบวงจร แยกน้ำและกากของเสียออกจากกันได้ 100% โดยไม่ปล่อยของเสียออกสู่ระบบระบายน้ำ และแม่น้ำลำคลอง จึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคติดต่อ สามารถหมุนเวียนน้ำที่ใช้ในระบบกลับมาใช้ได้อีก และยังนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้ นอกจากนี้ เอสซีจียังได้นำ Bio Scrubber Technology นวัตกรรมกำจัดกลิ่นและสารระเหยอินทรีย์ (VOCs) ด้วยจุลินทรีย์ธรรมชาติมาใช้ควบคู่ไปกับระบบบำบัดฯ จึงมั่นใจว่าระบบสุขาปลอดเชื้อจะไม่ส่งกลิ่นรบกวนและยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เอสซีจีได้นำร่องติดตั้ง “ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย” ที่ชุมชนคลองพลับพลา พระราม 9 ในบริเวณพื้นที่สาธารณะของชุมชน ซึ่งขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคห้องน้ำส่วนกลาง โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับคลองพลับพลาซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขับถ่ายของเสียลงในลำคลอง จึงเป็นการแก้ไขปัญหาสุขอนามัยที่ต้นทาง

Dr. Doulaye Kone (ดูลาย โคเน), Deputy Director - Water, Sanitation & Hygiene at the Bill & Melinda Gates Foundation กล่าวว่า ต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อที่ไม่ต้องอาศัยระบบไฟฟ้านี้ มีศักยภาพในการปฏิวัติระบบสุขาภิบาลให้แก่ผู้คนและเมืองต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่น ปลอดภัย และสะดวกกว่าเดิม ระบบสุขานี้จะช่วยนำประชากรราว 4,500 ล้านคนทั่วโลกที่ยังขาดแคลนระบบสุขาภิบาลที่สะอาดปลอดภัยในปัจจุบันให้รุดหน้าจากเดิมไปหลายสิบปีและพร้อมก้าวสู่อนาคต นำมาซึ่งการเกิดระบบสุขาภิบาลที่สะอาดปลอดภัยและสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 เราหวังว่าเอสซีจีจะนำนวัตกรรมนี้ไปสู่เครือข่ายและพันธมิตร เพื่อให้เกิดการนำไปใช้จริงอย่างแพร่หลายในชุมชนต่างๆ ทั่วโลก

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางน้ำเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง ประเทศไทยมีน้ำเสียที่เกิดจากชุมชนเฉลี่ยประมาณวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกรวบรวมไปบำบัดยังระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพียง 20% เทียบเป็น 1 ใน 5 เท่านั้น ทำให้ของเสียจากอาคารบ้านเรือนริมแม่น้ำทั่วไปยังคงระบายลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งมีการบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นด้วยระบบบำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ หรือ Onsite treatment system อย่างไรก็ดี ปัจจุบันภาครัฐได้จัดทำร่างมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปจากอาคารบ้านอยู่อาศัยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทยจากเอสซีจี ที่เป็นนวัตกรรมโดยตอบโจทย์ทั้งเรื่องสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม หากสามารถขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ รวมถึงห้องน้ำสาธารณะในพื้นที่ต่างๆ เช่น อุทยานแห่งชาติในประเทศไทย เชื่อมั่นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ Chief Technology Officer ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมวิจัยและพัฒนาได้ออกแบบรูปทรงและองศาของระบบสุขาปลอดเชื้อให้เหมาะกับการไหลทำให้เกิดความเร็วที่เหมาะสมในการหมุนเหวี่ยงของน้ำ และเกิดประสิทธิภาพในการแยกน้ำเสียและกากของเสียจากกัน ของเหลวจะถูกบำบัดด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ผ่านตัวกรองต่างๆ มีการเติมอากาศและระบบหมุนเวียนน้ำในระบบบำบัดของเสีย ตลอดจนผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยกระบวนการไฟฟ้าเคมี (Electro-Chemical) ซึ่งน้ำที่ผ่านการบำบัดสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ สำหรับกากของเสียจะถูกบำบัดและฆ่าเชื้อโรคด้วยการใช้ความร้อนสูงถึง 100-120 องศาเซลเซียส และกลายเป็นสารปรับปรุงดินเพื่อใช้งานต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของห้องน้ำที่ผลิตจากวัสดุพอลิเมอร์ เอสซีจีได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด พันธมิตรคู่ค้าผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปพลาสติก ในการออกแบบให้ติดตั้งได้ง่าย ขนย้ายสะดวก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ จึงสามารถติดตั้งได้ภายใน 30 นาที โดยออกแบบหลังคาให้รองรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบหมุนรับแสงได้รอบทิศทาง

นางสาวปิยาพัชร สุขสงวน รองประธานชุมชนคลองพลับพลา กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่ชุมชนคลองพลับพลาได้เป็นโครงการนำร่องติดตั้งต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อแห่งแรกในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ชาวบ้านขับถ่ายตามลำคลอง ไม่มีการรักษาสุขอนามัยของตัวเองเท่าที่ควร หลังจากที่เอสซีจีได้ติดตั้งห้องน้ำพร้อมระบบสุขาปลอดเชื้อในพื้นที่สาธารณะของชุมชนซึ่งอยู่ใกล้คลองพลับพลา ทำให้คนในชุมชนมีห้องน้ำใช้ที่ถูกสุขลักษณะ ช่วยยกระดับสุขอนามัยของชุมชนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ชุมชมยังได้นำน้ำที่ผ่านการบำบัดกลับมาหมุนเวียนใช้รดน้ำต้นไม้ และแปลงเกษตรชุมชน ทำให้พืชผักมีสีเขียวสวยและออกดอกออกผลดีขึ้น ซึ่งส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในครอบครัวสามารถนำไปขายสร้างรายได้และนำมาบำรุงรักษาห้องน้ำต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น