ตลาดเชนร้านกาแฟเดือดขึ้นอีกแน่นอน เมื่อ สตาร์บัคส์ อยู่ในกำมือกลุ่มไทยเบฟ นอกจากจะขยายพอร์ตโฟลิโอแล้ว ยังเป็นการปะทะศึกกับทรูคอฟฟี่ของเครือซีพี และคาเฟ่ อเมซอนของ ปตท.ชนิดห้ามกะพริบตา
จากตัวเลขข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะ เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในปี 2562 นี้ ตลาดร้านกาแฟจะมีมูลค่าตลาดรวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 25,860 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า (2561) ประมาณ 15-20% ที่จากมูลค่ารวม 23,470 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขที่มีการสอบถามรวบรวมจากผู้ประกอบการเชนกาแฟหลายรายแล้วพบว่าใกล้เคียงกัน คือ ตลาดเอาต์ออฟโฮม (Out of Home) ประมาณ 26,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 8% ส่วนตลาดกาแฟอินเฮาส์หรือที่ดื่มในบ้าน มีประมาณ 38,000 ล้านบาท
ส่วนยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยมีร้านกาแฟประมาณ 8,000 กว่าร้านค้า เติบโต 4.6% แต่หากมองรวม 5 ปีย้อนหลังจะเติบโต 6.2% และคนไทยบริโภคกาแฟแค่ 300 แก้วต่อคนต่อปี ยังน้อยกว่าอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น 400 แก้วคนต่อปี ยุโรปเฉลี่ย 600 แก้วต่อคนต่อปี ฟินแลนด์ก็สูงถึง 1,000 แก้วต่อคนต่อปีเลยทีเดียว
สาเหตุที่ทำให้เชนกาแฟเติบโตมากมาจากหลายปัจจัย เช่น การที่มีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดมากขึ้นทั้งแบรนด์ของไทยเองและแบรนด์จากต่างประเทศ บวกกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่บริโภคกาแฟมากขึ้นและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว การเข้าถึงช่องทางจำหน่ายร้านกาแฟที่ง่ายและหลากหลายมากขึ้นเป็นหลัก รวมถึงการแข่งขันของร้านกาแฟที่ชูเรื่องของการยกระดับการชงกาแฟที่มีความเป็นพรีเมียมมากขึ้น
โอกาสมี ช่องทางมาก ตลาดเติบโต ย่อมดึงดูดให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดเชนกาแฟในไทยไม่น้อย และไม่เลิกรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเศรษฐีทั้ง 2 คน อย่าง “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่คลุกคลีในวงการน้ำเมามานาน ยังต้องหลงกลิ่นอายกาแฟที่หอมหวนขึ้นมาทันใด
ขณะที่เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งซีพีนั้น ก็ปลุกปั้นธุรกิจกาแฟไปก่อนหน้านี้แล้วหลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นที่อยู่แถวหน้าคือ ทรูคอฟฟี่
เข้าทำนอง ร้านกาแฟ ธุรกิจที่มหาเศรษฐีต้องมี
ตลาดเชนร้านกาแฟในไทยจากนี้ไปยิ่งเดือด ยิ่งขม แน่นอน เมื่อทั้ง 2 เสี่ย หรือ 2 เจ้าสัว ลงสมรภูมิเดียวกันแล้ว
เมื่อมองสไตล์ “เจริญ” แล้ว ย่อมไม่ธรรมดา เพราะทุกครั้งต้องสร้างเซอร์ไพรส์เสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อบริษัทในเครือเข้าเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารสตาร์บัคส์ในประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ที่ซีแอตเติล สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ได้ประกาศการลงนามในสัญญากับบริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าของบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด (Maxim's Caterers Limited) และ บริษัท เอฟแอนด์เอ็นรีเทล คอนเนคชั่น จำกัด (F&N Retail Connection Co., Ltd.) ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกของสตาร์บัคส์ในประเทศไทย พร้อมขยายการเติบโตของตลาดในประเทศต่อไป ทั้งนี้ ข้อตกลงดังกล่าวนี้คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปลายเดือนพฤษภาคม 2562 นี้
"การตกลงร่วมลงนามในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของสตาร์บัคส์ และเรามีความยินดีที่ได้มอบสิทธิ์ในการบริหารธุรกิจแก่ บริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด และ บริษัท เอฟแอนด์เอ็นรีเทล คอนเนคชั่น จำกัด ที่มีความมุ่งมั่นในการขยายโอกาสการเติบโตของสตาร์บัคส์ในประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง" จอห์น คัลเวอร์ ประธานกลุ่มบริษัทสตาร์บัคส์ อินเตอร์เนชันแนล ฝ่ายพัฒนาช่องทางจำหน่ายและผลิตภัณฑ์กาแฟและชา กล่าว
ส่วนบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารธุรกิจร้านกาแฟสตาร์บัคส์ในตลาดสำคัญหลายแห่งทั่วเอเชีย รวมถึงเป็นพันธมิตรและร่วมดำเนินธุรกิจกับสตาร์บัคส์มาอย่างยาวนาน โดยเริ่มต้นจากการเปิดร้านสตาร์บัคส์สาขาแรกที่เกาะฮ่องกงร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2543
"เราตั้งตารอที่จะได้นำความเชี่ยวชาญของเรา กับความตระหนักเข้าใจอย่างถ่องแท้ในวัฒนธรรมและแบรนด์สตาร์บัคส์ที่ได้สั่งสมมา เพื่อมอบบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าผ่านพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) ผู้ซึ่งมีความรู้และความลุ่มหลงในกาแฟ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต่อไป" นายไมเคิล วู ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด กล่าว "เรารู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้เป็นผู้ส่งมอบประสบการณ์สตาร์บัคส์ให้แก่ลูกค้า ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจในประเทศไทยต่อไป"
บริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการร้านสตาร์บัคส์กว่า 400 สาขา ในตลาดกัมพูชา ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งมีการจ้างงานพาร์ตเนอร์ (พนักงาน) กว่า 6,000 คนทั่วทั้ง 5 ตลาด ภายใต้กิจการร่วมค้าใหม่นี้ แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จะเป็นผู้ดูแลธุรกิจค้าปลีกและการขยายสาขาในตลาดประเทศไทยต่อไป
นี่จึงเป็นการเคลื่อนทัพของ “เจริญ” ที่ต้องการขยายฐานธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์มากขึ้น โดยใช้เอฟแอนด์เอ็นเป็นหัวหอก และร้านกาแฟเป็นเป้าหมายหลัก
การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะเพิ่มตราสินค้าชื่อดังให้แก่พอร์ตโฟลิโอของ F&N ซึ่ง F&N ในประเทศไทยมีรายได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทในปี 2561 มีสินค้านมกระป๋อง ทีพอท ตราหมี และคาร์เนชั่นเป็นตราสินค้ากลุ่มนมข้นหวาน นมสเตอริไลซ์ และนมข้นจืดที่ F&N ยังคงมุ่งหน้าขยายสินค้ากลุ่มไอศกรีมและนมในประเทศไทยด้วยการออกสินค้าใหม่จาก แมกโนเลีย ในปี 2561
โก๊ะ โป๊ะ เตียง (Mr. Koh Poh Tiong) กรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 3 ตลาดหลักของ F&N และเรายินดีที่สามารถตอกย้ำและขยายธุรกิจในประเทศไทยผ่านการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ นอกจากนี้ ตลาดค้าปลีกกาแฟระดับพรีเมียมในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสตาร์บัคส์ซึ่งมีจำนวนร้าน 372 สาขาทั่วประเทศในปัจจุบันกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และยังมีโอกาสที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต เรายินดีที่จะได้ร่วมงานกับ Maxim’s ซึ่งมีประวัติการทำธุรกิจที่ดีกับสตาร์บัคส์มาอย่างยาวนาน”
ไทยเบฟเองก็มีความสัมพันธ์กับกลุ่มแม็กซ์ซิมเช่นกันเพราะเป็นผู้รับสิทธิ์บริหารกิจการร้านแม็กซ์ซิมเบเกอรีชื่อดังในตลาดประเทศไทยด้วย สาขาแรกอยู่ที่สยามพารากอน จึงต่อยอดสู่สตาร์บัคส์ผ่านทั้งแม็กซ์ซิมและเอฟแอนด์เอ็น
ที่ผ่านมา สตาร์บัคส์ไนไทยขยายสาขาและการสร้างยอดขาย รวมถึงการสร้างแบรด์ให้เป็นหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนไทยที่โดดเด่น เมื่อเข้ามาอยู่ในกำมือของเครือไทยเบฟแล้วจะยิ่งสร้างพลังแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในเรื่องของทำเล เงินทุน ทีมงาน เครือข่าย เพราะ เจริญ ก็ยิ่งใหญ่ในธุรกิจเรียลเอสเตทเช่นกัน ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า ค้าปลีกต่างๆ ออฟฟิศบิลดิ้งมากมาย เป็นที่รองรับสตาร์บัคส์ได้อย่างดี
ก่อนหน้านี้ ทางสตาร์บัคส์ในประเทศไทยวางแผนเจาะช่องทางใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการคอนโดมิเนียม และรวมถึงในปั๊มเอสโซ่ ล่าสุดยังเข้าในปั๊มซัสโก้ด้วย เป้าหมายเปิดร้านให้ครบ 400 สาขาภายในปี 2562 ที่ผ่านมาจะเปิดให้บริการในรูปแบบสาขามาตรฐานในห้างสรรพสินค้า สาขาเดี่ยว ตามพื้นที่ชุมชน ย่านธุรกิจ ย่านเมือง และสาขาเป็นโมเดลพิเศษลักษณะ Unique ในทำเลที่โดดเด่น ยิ่งได้แม็กซ์ซิมเป็นพันธมิตร ก็จะเป็นการผนึกพลังกับสตาร์บัคส์ได้อย่างดี
สตาร์บัคส์จะเป็นอีกแบรนด์ของ เจริญ ที่เข้ามาเสริมทัพที่จับกลุ่มกลางขึ้นบนทั่วประเทศ จากเดิมต้นปีมีแบรด์ กาแฟวาวี จากเหนือที่เจาะตลาดหลักอยู่ที่ภาคเหนือเป็นหลัก
โดยบริษัท บีเจซี เมก้า มาร์เก็ต จำกัด (บีเจเอ็มเอ็ม) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้เข้าซื้อกิจการวาวี และตั้งเป้าหมาย 5 ปีจากนี้ร้านกาแฟวาวีมี 1,000 สาขา ทั้งรูปแบบบริษัทลงทุนเองและขายแฟรนไชส์ รวมไปถึงตลาดต่างประเทศที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เปิดร้านสะดวกซื้อ ชื่อว่า M-POINT MART มี 45 สาขาในประเทศลาว ซึ่งจะเป็นช่องทางจำหน่ายของวาวีด้วย
กาแฟวาวีมีฐานที่มั่นที่ จ.เชียงใหม่ มีสาขา 20 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ มีสาขาที่กรุงเทพฯ เล็กน้อย และสาขาที่โดดเด่นที่สุดคือ “สาขาบิ๊กซี ราชดำริ” ส่วนปี 2562 นี้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มร้านวาวี จากที่มีอยู่ปัจจุบัน 20 สาขา ปีหน้าจะเปิดเพิ่มเป็น 100 สาขา และเป็น 1,000 สาขาภายใน 3-5 ปี ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 2,000 ล้านบาท
วาวีมีร้านกาแฟ 3 แบบ คือ 1. แฟลกชิปสโตร์ พื้นที่มากกว่า 100 ตร.ม. จะเปิดสาขาที่บิ๊กซี ราชดำริ และสุขาภิบาล 5, 2. ขนาดเอส พื้นที่เฉลี่ย 20 ตร.ม. หรือเป็นคีออสก์ ซึ่งปีหน้าบริษัทฯ จะเน้นการขยายรูปแบบนี้มากขึ้น โดยการเปิดขายแฟรนไชส์ ช่วงแรกจะเน้นในกรุงเทพฯ เป็นหลักก่อน และ 3. ขนาดเอ็ม พื้นที่ร้านเฉลี่ย 40-80 ตร.ม.
เมื่อมี 2 แบรนด์แล้ว เชื่อว่าเจริญยังไม่หยุดแค่นี้ เพราะไทยเบฟเองมีศักยภาพทั้งการเทกโอเวอร์แบรนด์ใหม่ การซื้อไลเซนส์ เป็นการเรียนลัดดีกว่า เร็วกว่า ที่จะพัฒนาเอง
กรณี สตาร์บัคส์ โดดเด่นเห็นชัด ปัจจุบันมีมากกว่า 372 สาขา และในปี 2559 มีรายได้ 6,05187 ล้านบาท กำไร 818.54 ล้านบาท ส่วนปี 2560 รายได้รวม 7,006.67 ล้านบาท กำไร 885.76 ล้านบาท กำไรดีเหลือหลาย
ไม่กี่ปีมานี้ไทยเบฟก็เพิ่งรับสิทธิ์บริหารเคเอฟซีในไทย เป็น 1 ใน 3 รายที่ทำตลาดในไทยแบบเดียวกันคือ ไม่ต้องเหนื่อยหรือเริ่มจากศูนย์
การซื้อสตาร์บัคส์ นอกจากจะขยายพอร์ตสินค้าให้กับเอฟแอนด์เอ็นแล้ว ยังช่วยผลักดันให้ “เจริญ” เร่งสร้างเครือข่ายธุรกิจร้านกาแฟขึ้นมาเฉกเช่นที่เครือซีพีทำอยู่
ฟากของเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ดื่มกาแฟก่อน “เจริญ” ไปหลายแก้วแล้ว ปัจจุบันมีหลายแบรนด์กระจายรุกตลาดทุกกลุ่ม เช่น ออลคาเฟ่ มวลชน คัดสรร เบลลินี่ อาราบิเทีย จังเกิ้ล คาเฟ่ ทรูคอฟฟี่ มีทั้งที่เติบโตดี เช่น ออลคาเฟ่ที่อยู่ใต้ชายคาร้านเซเว่นอีเลฟเว่นจึงเปิดสาขาได้เร็ว ส่วนที่เหลือก็ยังไม่ได้มีสาขามากนัก หรือยังเป็นแบรนด์ที่ยังไม่ใหญ่ เช่น กาแฟมวลชน คัดสรร เบลลินี่ จังเกิลคาเฟ่ เป็นต้น มีเพียงทรูคอฟฟี่เท่านั้นที่สามารถ และเป็นแบรนด์ที่ต่อสู้รายใหญ่ได้
ทรูคอฟฟี่จะมีบทบาทมากที่สุดในเครือ เพราะที่ผ่านมาปรับโมเดลต่อสู้กับสตาร์บัคส์ได้อย่างสมศักดิ์ศรี แม้ยังเป็นรองเพียงเรื่องจำนวนสาขาเท่านั้น
สตาร์บัคส์ กับ ทรูคอฟฟี่ จึงกลายเป็นศึกของ 2 เจ้าสัวบนสังเวียนกาแฟโดยปริยาย ยังไม่นับรวมถึงแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน อีกต่างหากที่เป็นเสมือนคู่แข่งทางอ้อมของทั้งสอง เพราะคาเฟ่ อเมซอนจะแตกต่างตรงทั้งดลุ่มเป้าหมายที่จับระดับกลาง และเน้นเปิดตามปั๊มน้ำมันและทั่วไป แม้ช่วงหลังจะรุกสู่ออฟฟิศบิลดิ้ง ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลฺล์และทั่วไป